2 ก.ค. รำลึก ศุภชัย ศรีสติ ผู้นำที่ไม่ตายจากแรงงาน

20160703_134125

“อายุของข้าพเจ้าครบวันเกิดปีที่ 34 ในวันนี้ และอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้ วาระสุดท้ายกำลังจะมาถึงแล้ว แต่ประวัติศาสตร์จะต้องจารึกไว้ในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน” 

จะให้ซัดทอดอะไรอีกได้ ในเมื่อมันไม่มีตัวมีตนเลย ใส่ร้ายเพื่อนหรือผู้อื่นหรือ? นั่นมันอาชญากรรมอย่างชั่วช้าที่สุด และเราจะไม่มีวันทำอย่างเด็ดขาด ถ้าจะต้องตายแล้วจะขอตายด้วยเกียรติยศ จะไม่ขอมีชีวิตอยู่ด้วยการให้ร้ายผู้อื่นอย่างเด็ดขาด…2 ก.ค.02[1]

เขายิ้มรับกับความตายที่มาเยือนอย่างองอาจกล้าหาญ อำนาจทมิฬเถื่อนมิอาจทำให้เขายอมค้อมหัวให้ สารพัดข้อกล่าวหาที่ยัดเยียดใส่ร้าย ป้ายสี ไม่ว่าจะเป็น คอมมิวนิสต์ใหญ่ บ่อนทำลายความมั่นคง โค่นล้มราชบัลลังก์ ทรยศ ขายชาติ เหล่านี้มิอาจทำให้เกียรติยศแห่งชนชั้นกรรมชีพของเขาต้องจางหายไป     สิ้นเสียงปืนนัดสุดท้าย ก็เพียงแค่สิ้นใจ แต่ทว่าไม่สิ้นชื่อ

ภายหลังการทำรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ผู้นำกรรมกรหลายคนถูกจับกุมคุมขัง พร้อมกับนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคนอื่นๆ ศุภชัยและสภาคนงานแห่งประเทศไทย ยังคงทำงานตามอุดมการณ์ต่อไปอย่างไม่เกรงกลัวอำนาจเผด็จการ ออกแถลงการณ์วิพากษ์รัฐบาลเผด็จการกับจักรวรรดินิยมอเมริกาอย่างรุนแรง ศุภชัยตัดสินใจเข้าสู่ขบวนแถวของนักต่อสู้แห่งชนชั้นกรรมาชีพที่สมาคมกรรมกรไทย องค์กรระดับชาติของคนงานซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การนำของ ประกอบ โตลักษณ์ล้ำ กรรมกรม้าเหล็กผู้ได้รับฉายานามจอมขบถแห่งทุ่งมักกะสัน

20160703_133956

ศุภชัย ศรีสติ เป็นสหายต่างวัยทำงานใกล้ชิดกับประเสริฐ ขำปลื้มจิต สารถีคนขี่สามล้อถีบที่มีบทบาทสำคัญในขบวนการแรงงานไทยในขณะนั้น ความสามารถทางด้านภาษาของศุภชัย ทำให้เขาได้รับมอบหมายจากเพื่อนคนงานอื่นให้เข้ามาทำหน้าที่ในฐานะผู้เชื่อมขบวนการแรงงานไทยเข้ากับขบวนการแรงงานสากล เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งและกรรมการของกลุ่มกรรมกร 16 หน่วย ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความแตกแยกไม่มีเอกภาพของขบวนการแรงงานไทยในขณะนั้น กลุ่มกรรมกร 16 หน่วยของเขามีบทบาทอย่างสำคัญยิ่งในสังคมไทยในช่วงท้ายของทศวรรษที่ 2490 ผลงานที่สำคัญประการหนึ่งของกลุ่มกรรมกร 16 หน่วยคือการต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้มีการตรากฎหมายคุ้มครองแรงงานจนประสบชัยชนะทำให้รัฐบาลต้องผ่านกฎหมายแรงงานฉบับแรกออกใช้บังคับในปี 2499

ศุภชัยเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งสมาคมผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือที่เราเรียกกันในวันนี้ว่า แรงงานนอกระบบ เพื่อเรียงร้อยเพื่อนพี่น้องผู้ใช้แรงงานเหล่านั้นเข้าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแรงงานไทย ศุภชัย ศรัทธาและเชื่อมั่นในอุดมการณ์สังคมนิยมอย่างแน่วแน่ เขามองว่าสังคมนิยมคือทางออกของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูงที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยขณะนั้น เขาเห็นว่าแนวทางสังคมนิยมคือธงนำของกรรมาชีพทั่วโลก เขาศึกษาค้นคว้าเพื่อทำความเข้าใจกับแนวทางสังคมนิยมอย่างจริงจังและอย่างเปิดเผย โฉ่งฉ่าง ขณะที่นักสังคมนิยมร่วมสมัยพากันพรางกายอยู่ข้างหลัง แต่ศุภชัยกลับประกาศตัวอย่างเปิดเผยในฐานะนักสังคมนิยมอิสระ เขาคิดว่ามนุษย์ควรมีสิทธิและเสรีภาพในอันที่จะเลือกยึดถืออุดมการณ์ทางการเศรษฐกิจการเมืองใดๆ ก็ได้ตราบที่ไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น

ด้วยความที่สนใจใคร่รู้ในลัทธิสังคมนิยมเขาจึงได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมกรไทยที่เดินทางไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับกรรมกรจีน ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนซึ่งปกครองภายใต้ระบอบความเชื่อของอุดมการณ์สังคมนิยมในปี 2500 ซึ่งเมื่อกลับสู่ประเทศไทยเขาจึงถูกจับกุม ศุภชัยได้จัดตั้ง สภาคนงานแห่งประเทศไทยขึ้นในปี 2500 ทำการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อมวลคนงาน คัดค้านอำนาจเผด็จการและจักรวรรดินิยมอเมริกา ในที่สุด วันที่ 30 มิถุนายน 2502 เขาได้ถูกจับ และถูกลงโทษประหารชีวิตด้วยอำนาจตามมาตรา 17 โดยไม่ได้ผ่านกระบวนการยุติธรรม ก่อนตายเขาได้บันทึกข้อความสั้นๆ บนกระดาษโน้ตเล็กๆ

20160703_133938

มาตรา 17 คือกฎหมายที่จอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ได้ร่างขึ้นมีอำนาจครอบคลุมจักรวาลในการกำจัดศัตรูทางการเมืองได้อย่างสมบูรณ์แบบ มาตรา 21 สั่งจบชีวิตใครก็ได้ตามอำเภอใจของผู้ปกครองในสมัยนั้นภายใต้ข้ออ้างว่า “เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประเทศชาติ”

6 กรกฎาคม 2502 เผด็จการคิดว่ากระสุนของพวกเขาได้ปลิดชีพศุภชัยไปแล้ว  แต่ไม่ใช่เลย… ศุภชัยยังไม่ตาย… เขายังคงอยู่ ยังอยู่ในมโนสำนึกของคนที่ต่อสู้เพื่อกรรมกร เพื่อคนทุกข์ยากและเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จิตใจกล้าหาญของเขายังคงประทับอยู่กลางดวงใจของผู้คนที่ใฝ่หาความเป็นธรรมเสมอ ศุภชัยยังอยู่เคียงข้างคุณเสมอตราบที่คุณยืนหยัดอยู่กับการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของมวลกรรมกร

วันนี้ชื่อของศุภชัย ศรีสติ ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อห้องประชุมในพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ใกล้สถานีรถไฟมักกะสัน เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณให้กับวีรบุรุษกรรมกรท่านนี้ เพื่อพวกเราจะสืบสานเจตนารมณ์ของเขา และเพื่อตอกย้ำว่าศุภชัยยังไม่ตาย เผด็จการไม่เคยฆ่าเขาให้ตายไปจากขบวนการกรรมกรไทยได้เลย ห้องประชุมแห่งนี้ถือได้ว่าเป็นสถานที่ใช้ประชุมที่ขลังและมีพลังที่สุดของขบวนการแรงงานไทย เป็นห้องประชุมที่นักสหภาพแรงงานหลายคนใฝ่ฝันที่จะเข้ามาใช้เป็นสถานที่ถกเถียงในประเด็นปัญหาแรงงาน คุณล่ะเคยมาหรือยัง?[2]

ความเป็นมาของศุภชัย  ศรีสติ

ศุภชัย    เป็นลูกชาวสวนแถวบางขุนนนท์     พ่อแม่มีฐานะพอสมควร   เขาเป็นคนเรียนหนังสือเก่งจนได้รับทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น ขณะอายุเพียง 16 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากกลับจากญี่ปุ่นได้เข้าทำงานที่กรมไปรษณีย์โทรเลข และเป็นผู้ที่ค้นคว้าคิดตัวอักษรไทยใช้กับเครื่องโทรเลข แต่ผลงานกลับเป็นของคนอื่นจึงลาออก

ศุภชัย สนใจปัญหาแรงงานซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย ไม่ได้รับการเอาใจใส่จากสังคม จึงเข้าร่วมกับสมาคมกรรมกรไทย และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง กรรมกร 16 หน่วย  ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความแตกแยกของขบวนการแรงงานไทยในขณะนั้น กรรมกร 16 หน่วยได้ต่อสู้เรียกร้องจนได้กฎหมายแรงงานฉบับแรก ใช้บังคับในปี 2499

ศุภชัย  ศรัทธาและเชื่อมั่นในอุดมการณ์สังคมนิยมอย่างแน่วแน่ เขามองว่าสังคมคือทางออกของการแก้ปัญหาหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมไทยขณะนั้น เขาเห็นว่าแนวทางสังคมนิยมคือธงนำของกรรมาชีพทั่วโลก และด้วยความสามารถด้านภาษา  ทำให้เขาได้รับมอบหมายจากคณะกรรมกรไทยเดินทางไปเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีกับกรรมกรจีน ในปี 2500  เมื่อกลับสู่ประเทศไทยได้ถูกจับกุม

บทบาทที่สำคัญ

– จัดตั้งสภาคนงานแห่งประเทศไทย

– จัดตั้งสมาคมผู้ประกอบอาชีพอิสระ

– คัดค้านอำนาจเผด็จการและจักรวรรดินิยมอเมริกา[3]

//////////////////////

[1] พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

[2] ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา

[3] พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย