เกี่ยวกับเรา

กว่าจะมาเป็นพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

ประเทศไทยเป็นชาติที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน ประกอบขึ้นด้วยคนหลากหลายกลุ่มซึ่งล้วนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาประเทศ  แต่ประวัติศาสตร์กลับละเลยที่จะจารึกบอกกล่าวเล่าขานเรื่องราวของผู้คนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม  มีเพียงคนบางกลุ่มบางอาชีพเท่านั้นที่ได้รับการสรรเสริญยกย่องว่ามีบทบาทและมีคุณูปการต่อกระบวนการพัฒนาประเทศ  ขณะที่เรื่องราวของคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้ถูกมองข้าม

ทั้งที่ความเป็นจริง ประวัติศาสตร์ของการพัฒนาประเทศไทยมิอาจแยกออกจากประวัติศาสตร์แห่งการสร้างสรรค์ของมวลผู้ใช้แรงงานไทยได้ เพราะในทุกขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาประเทศ ผู้ใช้แรงงานจำนวนมหาศาลต้องใช้หยาดเหงื่อและแรงกายตากแดดกรำฝนเพื่อสร้างความสำเร็จให้กับกระบวนการพัฒนาดังกล่าว แม้ว่าแรงงานไทยจะมีความสำคัญถึงเพียงนี้ แต่เรื่องราวของพวกเขากลับกลายเป็นสิ่งลึกลับหายสาบสูญไปจากหน้าประวัติศาสตร์ไทย มีพื้นที่เพียงน้อยนิดบนหน้าประวัติศาสตร์ไทยที่บอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาให้สังคมได้รับรู้  ไม่ค่อยมีใครเอ่ยถึงพวกเขาอย่างยกย่องหรือแม้แต่กล่าวถึงผลงานของพวกเขาตามที่เป็นจริง และนี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้แรงงานไทยมีสถานภาพทางสังคมที่ต่ำต้อยกว่าคนกลุ่มอื่นๆ

ด้วยเหตุนี้ผู้ใช้แรงงานส่วนหนึ่งซึ่งตระหนักในประเด็นดังกล่าว จึงได้ปรึกษาหารือและประสานงานกับองค์กรพัฒนาเอกชน, นักวิชาการด้านแรงงาน, นักประวัติศาสตร์และนักจดหมายเหตุ  และจัดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2534 ที่ห้องประชุมมูลนิธิฟรีดริคเอแบร์ท ผลของการประชุมครั้งนั้น ที่ประชุมมีมติร่วมกันให้รณรงค์ให้มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยขึ้น เพื่อเป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงเรื่องราวของผู้ใช้แรงงานไทย และด้วยการร่วมแรงร่วมใจชนิดช่วยกันคนละไม้คนละมือ ในที่สุดอาคารเก่าแก่ชั้นเดียวที่เคยมีประวัติเป็นสถานีตำรวจรถไฟและที่ทำการสหภาพแรงงานรถไฟ แต่

ภายหลังถูกปล่อยให้เป็นอาคารร้างอยู่นานหลายปี ก็ได้ถูกเนรมิตขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงของผู้ใช้แรงงาน ให้กลายเป็นสถานที่บอกเล่าเรื่องราวของพวกเขา อันถือเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกในประเทศไทยที่บอกเล่าเรื่องราวของชนชั้นกรรมาชีพ โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม 2536

building-tlm-1

ภาพด้านหน้าพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย : พิพิธภัณฑ์แห่งศักดิ์ศรีและความภูมิใจของผู้ใช้แรงงาน

อาคารชั้นเดียวที่ถูกดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่น่าสนใจกล่าวคือ  ครั้งหนึ่งเคยถูกใช้เป็นสถานีตำรวจรถไฟ  ซึ่งห้องขังที่เป็นลูกกรงเหล็กยังปรากฎให้เห็นอยู่  ต่อมาเมื่อสถานีตำรวจรถไฟย้ายไปอยู่ยังสถานที่แห่งใหม่  อาคารแห่งนี้ได้ถูกใช้เป็นที่ทำการสหภาพแรงงานรถไฟอยู่นานหลายปี  และเนื่องจากสหภาพแรงงานรถไฟเป็นองค์กรแรงงานที่มีบทบาทอันสำคัญในขบวนการแรงงานและในการต่อสู้คัดค้านเผด็จการ  อาคารแห่งนี้จึงมักถูกคุกคามจากฝ่ายเผด็จการ  กล่าวคือเกือบทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร  อาคารแห่งนี้จะถูกควบคุมไว้  ประตูห้องที่ฉีกหักเพราะถูกจามด้วยขวานคือหลักฐานและร่องรอยที่หลงเหลือจากอดีต  ซึ่งยืนยันให้เห็นถึงความสำคัญในตัวของมันเองของอาคารแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

หน้าอาคารด้านทิศตะวันตกติดถนน อนุสาวรีย์ที่ทำจากปูนปั้นฝีมือศิลปินเพื่อชีวิต นายสุรพล  ปรีชาวชิระ และคณะ  ที่สะดุดตาผู้สัญจรผ่านไปมา  อนุสาวรีย์แห่งนี้ถูกขนานนามว่า ”อนุสาวรีย์ศักดิ์ศรีแรงงาน”  สร้างขึ้นเพื่อยืนยันความมีศักดิ์ศรีของชนผู้ใช้แรงงานไทย  และถือกันว่าเป็นอนุสาวรีย์แห่งแรกของผู้ใช้แรงงานอีกด้วย อนุสาวรีย์เป็นรูปปั้นคนงานหญิงชายกำลังผลักกงล้อประวัติศาสตร์ให้เคลื่อนไปข้างหน้าใต้กงล้อมีรถถังถูกบดขยี้  อันบ่งบอกความหมายถึงการคัดค้านเผด็จการ

การบริหารจัดการ

ตั้งแต่เมื่อแรกเริ่ม มี ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร เป็นประธานโครงการพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย  เมื่อจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แล้ว  บริหารโดยคณะกรรมการที่มี  นายบุญเทียน ค้ำชู  อดีตประธานสหภาพแรงงานการ

ไฟฟ้านครหลวง เป็นประธานคนแรก ซึ่งได้ดำเนินการขอจดทะเบียน  ก่อตั้งเป็นมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงาน ไทย  เมื่อวันที่   4 มิถุนายน พ.ศ.2539   มีการเลือกประธานและคณะกรรมการบริหารทุก 2 ปีตามข้อบังคับ  มีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ให้การสนับสนุนมาเป็นกรรมการกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษา  ซึ่งผลของการก่อตั้งเป็นมูลนิธิ ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ เป็นที่ไว้วางใจสำหรับผู้ที่ประสงค์จะบริจาคเงินสนับสนุนกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

ปัจจุบันมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยมี นายทวีป กาญจนวงศ์  อดีตประธานสหภาพแรงงานการท่าเรือ เป็นประธานมูลนิธิฯ  นายวิชัย นราไพบูลย์  เป็นผู้จัดการพิพิธภัณฑ์  มีเจ้าหน้าที่ประจำ 2 คนคือ นางสาวสุมาลี ลายลวด และนางสาวภัชรี ลายลวด  มีเจ้าหน้าที่อาสามสมัคร 1 คนคือ นางสาววาสนา ลำดี

เป้าประสงค์ และกิจกรรม

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ 4 ประการ

ประการที่ 1

เพื่อจัดแสดงเรื่องราว  ประวัติความเป็นมา  ชีวิตความเป็นอยู่  และการทำงานของผู้ใช้แรงงาน  โดยนำเสนอผ่านนิทรรศการถาวรภายในพิพิธภัณฑ์  ที่ปัจจุบันมีห้องแสดงรวม 7 ห้อง

วัตถุประสงค์ประการที่ 2

เพื่อเป็นสถานที่สำหรับศึกษาค้นคว้า  รวบรวมและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์แรงงานไทย ได้มีการจัดสัมมนา ชำระประวัติศาสตร์แรงงานไทย 2 ครั้ง โดยร่วมกับคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สามารถรวมพิมพ์เป็นหนังสือประวัติศาสตร์แรงงานไทย ได้ 2 เล่มพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย  ยังได้จัดโครงการสัมมนาศึกษาประวัติศาสตร์แรงงานไทย  ที่มีทั้งการบรรยายประกอบการฉายภาพ  ร่วมกับการนำชมนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์   มีสหภาพแรงงานหลายแห่ง  และนักศึกษากว่า 20 สถาบัน  เข้าร่วมตลอดมาถึงปัจจุบัน

วัตถุประสงค์ประการที่ 3

เพื่อเป็นห้องสมุดแรงงานและศูนย์กลางรวบรวมเอกสารชั้นต้น เทปบันทึกเสียงและวิดีโอเทปเกี่ยวกับแรงงาน  เพื่อให้บริการแก่สาธารณชน มีห้องสมุดแรงงานชื่อ ศาสตราจารย์ นิคม จันทรวิทุร ที่รวบรวมหนังสือเกี่ยวกับแรงงานไว้ให้บริการค้นคว้าศึกษา ขณะที่ห้องโสตทัศนูปกรณ์ ชื่อ ถวัติ ฤทธิเดช เก็บรวมรวมเทปบันทึกเสียง และวิดีโอบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับแรงงานตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เพื่อบริการในด้านงานจัดทำสารคดีแรงงาน

วัตถุประสงค์ประการที่ 4

เพื่อเป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมด้านแรงงาน  ที่จัดเก็บและจัดแสดงกิจกรรมทางด้านศิลปวัฒนธรรมของคนงาน กิจกรรมหลายอย่างในมิติทางวัฒนธรรมถูกจัดมาอย่างต่อเนื่อง  ทั้งการสัมมนาเรื่อง เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของผู้ใช้แรงงาน เรื่องตำนานเพลงเพื่อชีวิตของผู้ใช้แรงงานไทย จัดนิทรรศการเสื้อยืด บันทึกร่วมสมัยตำนานประท้วงไทย นิทรรศการโปสเตอร์แรงงานโลก นิทรรศการป้ายผ้ารณรงค์ของแรงงาน จัดประกวดและจัดนิทรรศการภาพถ่ายแรงงานไทย ณ สิ้นศตวรรษที่ 20  มีการจัดทำเทปเพลงเกี่ยวกับแรงงานชุดตำนานแห่งศรัทธา  ที่บันทึกเสียงเพลง คิดถึงตุ๊กตา สะท้อนเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ โดยวงภราดร  เป็นผู้ขับร้อง  อันถือเป็นจุดกำเนิดของวงดนตรีแรงงานหญิง

นอกจากนั้น ยังจัดแสดงดนตรีและการแสดงอื่นของผู้ใช้แรงงาน  ในคราวที่มีการจัดกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์การเป็นศูนย์กลางแห่งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นแรงงาน  เช่นการจัดเสวนาอภิปราย  และการฝึกอบรม โดยได้จัดให้มีการเสวนาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์  เช่น เสวนาเรื่อง คำให้การประวัติศาสตร์ ว่าด้วยความขัดแย้งในแนวความคิด และแนวทางต่อสู้ของขบวนการแรงงานไทย  เสวนาเรื่อง ผู้นำแรงงานหญิงข้ามกาลสมัย  ซึ่งมีอดีตผู้นำแรงงานยุคเก่าเข้าร่วมบอกเล่าเรื่องราวแรงงานในยุคก่อนมากมายหลายคน และมีห้องฝึกอบรมคอมพิวเตอร์  ที่จัดเตรียมไว้เพื่อพัฒนาทักษะด้านการทำงาน และการสื่อสารสมัยใหม่ให้กับผู้นำแรงงานและผู้ใช้แรงงาน นอกจากนี้ยังมีองค์กรแรงงาน และองค์กรอื่นๆ  มาใช้บริการห้องประชุม ทั้งเพื่อการประชุม และการจัดสัมมนาในวาระต่างๆเสมอ

บริการของเรา

รายได้ และ การสนับสนุน

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยดำเนินการด้วยเงินบริจาคตลอดมาโดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล

นับแต่เริ่มคิดการจัดทำพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิฟรีดริคเอแบร์ท เป็นผู้สนับสนุนในหลายๆด้าน ตั้งแต่เรื่องการประชุมเตรียมการ การปรับปรุงอาคารสถานที่  การจัดทำนิทรรศการจัดแสดง การจัดหาวัสดุอุปกรณ์ทันสมัย รวมไปถึงการจัดสัมมนาเสวนา  ฝึกอบรมในประเด็นประวัติศาสตร์ แรงงาน สนับสนุนการจัดจ้างเจ้าหน้าตั้งแต่เริ่มแรก  และเพิ่งจะสิ้นสุดโครงการสนับสนุนไปเมื่อปลายปี พ.ศ.2547  นอกจากนั้น การได้เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฟรีดริคเอแบร์ท ที่เป็นนักประวัติศาสตร์แรงงาน อย่าง  ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา มาช่วยทั้งงานวิชาการ และการลงมือปฏิบัติตั้งแต่เริ่มแรกนั้น  เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยหยัดยืนอยู่ได้ถึงปัจจุบัน

ด้านเงินบริจาคนั้น  เมื่อเริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์  มีองค์กรแรงงานหลายแห่งลงนามเป็นลายลักษณ์อักษร  ในการบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ มากบ้าง น้อยบ้าง ตามกำลัง  จนปัจจุบันแม้จะมีองค์กรแรงงานบริจาคสนับสนุนเพิ่มขึ้นบ้าง  แต่

กิจกรรมหารายได้ ก็เป็นเรื่องที่มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อการอยู่รอด มีการจัดทอดผ้าป่ามาแล้ว 3 ครั้ง เมื่อปีพ.ศ.2538  , 2547 และ2551 จัดคอนเสิร์ตดนตรีเพื่อชีวิต เมื่อปี พ.ศ. 2538  จัดทำเทปเพลง เสื้อยืด และรับบริจาคหนังสือแรงงาน จำหน่ายหารายได้ มีรายได้จากผู้มาใช้ห้องประชุม นอกจากนี้ยังได้รับบริจาคเป็นเงินก้อนใหญ่จากบุคคลทั่วไป  และจากการจัดโบว์ลิ่งการกุศลของกระทรวงแรงงาน เงินรายได้จากการจัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือ รวมทั้งยังมีการบริจาครายย่อยอื่นๆ และบริจาคใส่ตู้รับบริจาค

แต่ในความเป็นจริงนั้น  รายได้ที่มีเข้ามาก็ยังไม่อาจถือได้ว่าทำให้พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยอยู่ในสถานะที่จะสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างมั่นคงเพียงพอ นั่นเพราะว่าภาระค่าใช้จ่ายมีอยู่สูงมาก ทั้งการจัดจ้างเจ้าหน้าที่  ค่าโทรศัพท์  ไฟฟ้า  น้ำประปา  รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในสำนักงานที่ทุกวันนี้  พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยมีภารกิจเพิ่มมากขึ้นจากการเป็นศูนย์ติดต่อประสานงานในภารกิจเพื่อผู้ใช้แรงงานโดยตลอด  เช่น กิจกรรมช่วยเหลือแรงงานผู้ประสบภัยถึง 2 ครั้ง คือจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่มภาคใต้ปี 2547  และล่าสุดเมื่อปลายปี 2554  ในเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ รวมทั้งเหตุเฉพาะหน้าอื่นๆอีก

จากก้าวย่างของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยที่ได้ข้ามผ่านกาลเวลามากว่า 2 ทศวรรษแล้วนั้น  พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยกลายเป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่ง ให้คนที่ต้องการศึกษาหาความรู้เรื่องราวของแรงงานไทยได้แวะเวียนมาเยี่ยมชม  ซึ่งมีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ  ทั้งที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ผู้ใช้แรงงาน หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไป  รวมทั้งยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ที่มีเรื่องราวบรรจุไว้ในหนังสือและแผนที่ท่องเที่ยวของทั้งเขตราชเทวี  ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และคู่มือท่องเที่ยวของต่างชาติ  ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติแวะเวียนมาอยู่เสมอ

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย จะสามารถดำรงอยู่เพื่อแบกรับภารกิจประวัติศาสตร์ ในการเป็นสัญลักษณ์แห่งคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้ใช้แรงงานของไทยได้อีกยาวนานเพียงใด  ก็เป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งสำหรับผู้ใช้แรงงาน ประชาชนทั่วไป รวมทั้งรัฐบาล  ที่จะตระหนักถึงความสำคัญและช่วยกันรักษาสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าต่อสังคมไทยให้คงอยู่สืบไป