อารมณ์ พงศ์พงัน ปัญญาชนของขบวนการแรงงาน

อารมณ์คุยกับเพื่อน

เรียบเรียงโดย วาสนา ลำดี

ครบรอบ 36 ปี แห่งความสูญเสียผู้นำแรงงาน ที่ถือว่าเป็นปัญญาชนของขบวนการแรงงานอย่าง คุณอารมณ์ พงศ์พงัน ไปอย่างไม่มีวันหวนกลับเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2523 ด้วยวัยเพียง 34 ปี อารมณ์ คือใครมีความสำคัญเพียงใดดิฉันอยากชวนทุกอ่านมาเรียนรู้และรำลึกถึงเขาในฐานผู้นำแรงงานที่ทำหน้าที่เป็นเปรียบเสมือนปัญญา และต่อสู้กับอำนาจรัฐเผด็จการอย่างหาญกล้าในยุคนั้น วันที่ 15 ตุลาคม 2519 อารมณ์ ถูกจับที่บ้านพัก ข้อหาภัยสังคม และตามด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ กบฏ จลาจล ฯลฯ ภายใต้มุมมอง “เผด็จการนั้นไม่ว่าจะมาในรูปแบบใด ก็จะไม่สามารถดำรงอำนาจอยู่ในสังคมนี้ได้นาน” และมองความขัดแย้งว่า “ผมอยากร้องตะโกนให้ก้องไปทั้งประเทศนี้ว่า ทำไมเราไม่พัฒนาความขัดแย้งนั้นให้เปลี่ยนรูปแบบจากในแง่การทำลายมาเป็นรูปแบบแห่งการสร้างสรรค์ เราต้องเข่นฆ่ากันด้วยหรือ?

วัยเด็ก อารมณ์ พงศ์พงัน ชีวิตต้องสู้

อารมณ์ พงศ์พงัน เกิดเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2489 ที่ เกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดราษฎร์เจริญ ชั้นมัธยม 6 ที่โรงเรียนมัธยมพงันวิทยา เมื่อปี 2505

ในช่วงปี 2502 ถึง 2507 นั้น อารมณ์ไปใช้ชีวิตเป็นชาวประมงจับปลา เป็นคนแจวเรือรับจ้างที่ท่าเกาะพงัน และไปเป็นคนงานในไร่มันสำปะหลังที่ระยอง เพราะฐานะทางบ้านของอารมณ์ไม่ค่อยดีนัก จากนั้นได้กลับเข้าเรียนต่อ ม.ศ. 4 ที่โรงเรียนไพศาลศิลป์ แผนกวิทยาศาสตร์ และจบ ม.ศ. 5 ปี 2510 ได้ศึกษาต่อที่วิทยาลัยเทคนิค โคราช แผนกวิชาช่างโยธา อารมณ์ ถือว่า เป็นคนเรียนเก่งจนได้รับกิตติคุณในฐานะนักศึกษาเรียนดี ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานชุมนุมภาษา หนังสือของวิทยาลัย รวมทั้งเป็นประธานนักศึกษา ด้วยค่าใช่จ่ายที่ทางบ้านส่งมาให้เดือนละ 500 บาท ไม่เพียงพอ อารมณ์ จึงต้องทำงานพิเศษหาเงิน เขียนหนังสือ เรื่องสั้น เรื่องยาว บทความ และบทกวี ลงตีพิมพ์ตามหนังสือพิมพ์ประเภทต่างๆ อาทิเช่น สังคมปริทัศน์ สยามรัฐ ชาวกรุง สามยอด และหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ของพรรคประชาธิปัตย์

จุดเริ่มต้นครอบครัว-งานอาชีพ : 1 กันยายน 2515 อารมณ์ เข้าทำงานในการประปานครหลวง ได้ถูกส่งให้ไปเรียนรู้งานที่กองสำรวจ และออกแบบ งานอดิเรกของอารมณ์ คือเขียนบทความคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่โคราช ซึ่งมีเรื่องราวการคัดค้านสงครามเวียดนาม ค่าแรงคนงาน ข้าวของแพง ตอนนั้นยังไม่มีการเคลื่อนไหวการเมือง คำว่า วรรณกรรมเพื่อชีวิต ยังเป็นคำที่ไม่แพร่หลาย แต่อารมณ์ได้ก้าวหน้าไปก่อนแล้ว และปลายปี 2515 อารมณ์ได้สมรสกับคุณอมรลักษณ์ มีบุตรสาวเพียงคนเดียว ชื่อ เบญจภา พงศ์พงัน

อารมณ1

องค์กรแรงงานการคุ้มครองผลประโยชน์ พื้นฐานประชาธิปไตย: ในความคิดของอารมณ์ “สหภาพแรงงานได้แก่ องค์กรคุ้มครองผลประโยชน์ให้แก่กรรมกร ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจุดยืนแห่งการคุ้มครองผลประโยชน์นั้น อยู่บนพื้นฐานแห่งการปกครองด้านประชาธิปไตย” หน้าที่สมาชิกหรือผู้ใช้แรงงาน คือ พร้อมในการเป็นสมาชิก ให้ความไว้วางใจ อย่างเชื่อมั่น และศรัทธา เมื่อเป็นสมาชิกแล้วจะต้องเดินตามแนวทางลัทธิสหภาพแรงงานอย่างเคร่งครัด  ในฐานะสมาชิก และจะต้องไม่เรียกร้องให้สหภาพแรงงานคุ้มครองผลประโยชน์ส่วนตัวที่ได้มาโดยไม่ชอบ ต้องไม่หวังที่จะอาศัยอิทธิพลของสหภาพแรงงาน ไปเป็นเครื่องมือไต่เต้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน

อารมณ์ ร่วมจัดตั้งสหภาพแรงงานการประปานครหลวง ปี 2518 ร่วมกับผู้ก่อการที่รักความเป็นธรรมท่านอื่นๆ เปิดตัวสหภาพแรงงานฯ โดยการเปิดปราศรัยครั้งใหญ่ ซึ่งอารมณ์เป็นกำลังหลักที่ชี้แจงอธิบายตัวตนขององค์กรให้เพื่อนพนักงานทราบ ความเป็นนักคิดนักเขียน อารมณ์ จึงรับเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ เป็นบรรณาธิการในวารสาร ถังสูง เขียนข้อเขียนต่างๆแทบจะคนเดียว ปีเดียวกันได้รับเลือกตั้งเป็นรองประธานกลุ่มสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย

ด้วยจิตใจที่ รักประชาธิปไตย และรักความเป็นธรรม ความเป็นคนที่มีเหตุผล ทำให้อารมณ์ได้รับการยอมรับจากทั้งภายในองค์กร และภายนอกองค์กร กรณีการช่วยเหลือ กรรมกรฮาร่า ที่ชุมนุมยึดโรงงาน และรัฐมีท่าทีที่ไม่ให้ความเป็นธรรม อารมณ์ได้รับเลือกเป็น คณะอนุญาโตตุลาการฝ่ายกรรมกรชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน หาทางออกให้กับผู้ใช้แรงงานอย่างชาญฉลาด และเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายแรงงานให้แก่ลูกจ้างหลายโรงงาน

ความคิดทางการเมือง และสังคม

14 ตุลาคม 2516   อารมณ์ได้ชักชวนเพื่อนๆเข้าร่วมชุมนุม กับนักศึกษาที่มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ กรณีการจับนักศึกษาที่แจกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ภายใต้ความเชื่อของอารมณ์ว่า “พลังมวลชนไม่มีใครสู้ได้” หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ผ่านไป อารมณ์ ได้เขียนบทความที่มีข้อคิดคล้ายเตือนว่า อย่าประมาท และอย่าไว้ใจอำนาจเผด็จการ ที่พร้อมทำทุกอย่างที่ไร้ศิลธรรมความปรานี

อารมณ์ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในสังคม กระทั้งแวดวงเกษตรกร ปี 2519 อารมณ์ ได้รับเลือกเป็นกรรมการพิสูจน์อัตราแปรสภาพข้าวเปลือก เป็นข้าวสาร โดยร่วมกับรัฐบาล นิสิตนักศึกษา และผู้ประกอบการโรงสี ผลจากที่รัฐบาลชุด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตัดสินใจเลิกจำหน่ายข้าวสารราคาถูก อ้างว่า เพื่อดันราคาข้าวเปลือกให้สูงขึ้น กลุ่มสหภาพฯ  จึงคัดค้าน เพราะอยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพงคนยากจน ผู้ใช้แรงงานเดือดร้อน การเลิกขายข้าวสารราคาถูกไม่ได้ช่วยชาวนาตามที่รัฐบาลอ้าง เพราะรัฐไม่สามารถควบคุมพ่อค้าคนกลาง โรงสีให้ซื้อข้าวเปลือกตามที่ประกันราคาได้ กลุ่มสหภาพแรงงานนำโดยนาย ไพศาล ธวัชชัยนันท์ ได้เรียกประชุมสหภาพแรงงานทั่วประเทศ เพื่อลงมตินัดหยุดงานทั่วประเทศวันที่ 2 มกราคม 2519   ท่าทีที่แข็งกร้าว การเคลื่อนขบวน มาชุมนุมที่ลานพระรูปทรงม้า วันที่ 4 มกราคม 2519 เข้าเจรจากับรัฐบาลในคืนนั้น ซึ่งทางกลุ่มสหภาพฯได้เสนอให้รัฐบาลจัดให้มีข้าวสารราคาถูกขายต่อไป พร้อมทั้งแต่งตั้ง “กรรมการพิสูจน์อัตราการแปรสภาพข้าวเปลือก เป็นข้าวสาร

อารมณ์ ไพศาล อาหมัด

ขบวนแตก หากผู้นำขายตัว : อารมณ์ บันทึกถึงจุดอ่อนของขบวนกรรมกรไทยว่า จากความเกลียดชัง และต่อต้านอำนาจเผด็จการทุกรูปแบบอย่างจริงจัง เมื่อองค์กรแรงงานเห็นแก่ประโยชน์ ทำให้เกิดจุดอ่อนภายในสภาแรงงานแห่งประเทศไทย (กลุ่มสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย) ความประสงค์ของบรรดาผู้นำกรรมกรขายตัว เข้ามาทำลายความสามัคคีภายในหมู่กรรมกรระดับสูง โดยอาศัยความเกลียดชังระบอบคอมมิวนิสต์ที่มีอยู่ในระบอบแรงงานเสรี ทำลายเจตนารมณ์ที่คัดค้านการปกครองแบบเผด็จการ เปิดโอกาสให้การปกครองแบบเผด็จการฟัสซิสต์เข้ามามีอำนาจในสภาแรงงานฯเป็นผลสำเร็จ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 การแทรกแซง ปลุกระดมให้เกิดความลุ่มหลงลัทธิคลั่งชาติ กล่าวหาว่า ผู้นำกรรมกรเป็นคอมมิวนิสต์ ใส่ร้ายป้ายสีการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2518 ที่สวนลุมพินี ผู้ที่ใช้นามปากกาว่า กระแช่ หนังสือพิมพ์ดาวสยาม (8 มี.ค.19)กล่าวหาว่าอารมณ์ พงศ์พงัน จะจัดงานฉลองวันชาติรัสเซีย [1] หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองที่ถอยหลังเข้าคลอง สภาแรงงาน ถูกคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินออกคำสั่งยุบเลิก ถือเป็นการปิดฉากระบบสหภาพแรงงานตามลัทธิสหภาพแรงงานเสรี  เมื่อรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียรขึ้นมาบริหารประเทศ แม้ไม่ได้ยกเลิกกฎหมายแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 เสียทั้งหมด[2]

วันที่ 15 ตุลาคม 2519 อารมณ์ ถูกจับที่บ้านพัก ข้อหาภัยสังคม และตามด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ กบฏ จลาจล พยายามฆ่าเจ้าพนักงาน สะสมอาวุธ และซ่องโจร ทั้งที่ มิได้เข้าร่วมชุมนุม ช่วง 2 ปีที่ในคุกอารมณ์ ใช้เวลาเขียนหนังสือ ทั้งเรื่องสั้น บทกวี ประวัติศาสตร์ขบวนการกรรมกร ฯลฯ

ด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวในการต่อสู้ในสิ่งที่ตนเชื่อถือ “เป็นเพียงการจากไป เพื่อปฏิบัติหน้าที่ของเสรีชน ปฏิบัติหน้าที่ของผู้นำกรรมกร เพื่อเรียกร้องเสรีภาพ เรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนทั่วๆไป เป็นการจากไปที่มีเกียรติ“ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน ทำให้เขามุ่งมั่น และมีกำลังใจที่ไม่ย่อท้อ แม้บางช่วงเวลาขบวนการต่อสู้จะซวนเซ ซึ่งอารมณ์ได้บันทึกไว้ว่า ดอกไม้บานแล้ว บริสุทธิ์กล้าหาญ บานอยู่ในใจของประชาชน ผู้รักความเป็นธรรมทุกคน “เผด็จการนั้นไม่ว่าจะมาในรูปแบบใด ก็จะไม่สามารถดำรงอำนาจอยู่ในสังคมนี้ได้นาน [3] 

เมียและลูกรอรับวันออกจากคุก 2

ในทรรศนะอารมณ์ ชี้ชัดว่า การต่อสู้เพียงเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่พอ ต้อง “สนใจทิศทางการเมือง” เพื่อให้ขบวนการนี้สามารถควบคุมพฤติกรรม และบทบาทของรัฐบาลต่อขบวนการกรรมกร เพราะ “กรรมกรก็คือประชาชนผู้ทุกข์ยาก และต่ำต้อยของสังคม เช่นเดียวกับชาวนา” ในเมื่อกรรมกรสามารถรวมพลังอำนาจต่อรองได้ระดับหนึ่ง ถ้าฝ่ายรัฐบาลเป็นฝ่ายตรงข้ามกับกรรมกรเสียแล้ว มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่กรรมกรจะใช้ระบบสหภาพแรงงานไปต่อสู้ และความเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยสันติวิธี

ผมไม่เคยนิยมการใช้วิธีรุนแรง สำหรับปัญหาทางด้านการเมืองที่เราคนในสังคมนี้ สามารถแก้ไขร่วมกันได้ โดยการใช้สมองเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ผมไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหา ด้วยการฆ่า และทำลายสำหรับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในระหว่างบุคคล โดยเฉพาะความขัดแย้งทางด้านความคิดด้วยแล้ว ผมอยากร้องตะโกนให้ก้องไปทั้งประเทศนี้ว่า ทำไมเราไม่พัฒนาความขัดแย้งนั้นให้เปลี่ยนรูปแบบจากในแง่การทำลายมาเป็นรูปแบบแห่งการสร้างสรรค์ เราต้องเข่นฆ่ากันด้วยหรือ?[4]

อารมณ์เห็นว่า ขบวนการแรงงานต้องมีเอกภาพไม่ควรแยกองค์กรนำระดับสูง เพื่อเป็นพลังต่อรองที่เข้มแข็ง ยกระดับความเป็นอยู่ของแรงงาน และสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม

16 กันยายน 2521 การประกาศนิรโทษกรรมผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกล่าวหาอิสรภาพคืนสู่อารมณ์อีกครั้ง ด้วยความยินดี และความสุขของครอบครัว และผู้ใช้แรงงาน ทันที่ที่ออกมาก็เข้าแบกรับงานงานสหภาพ และสภาแรงงานทันที ขณะเดียวกันก็ใช้เวลาเขียนหนังสือเท่าที่ทำได้ ปี 2522 ร่วมทำวารสารข่าวคนงาน ของสภาฯ เป็นประธานสหภาพแรงงานการประปานครหลวง

ได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่น เรื่อง เพลงลาบทสุดท้าย จากสมาคมภาษา และหนังสือ และได้รับการคัดเลือกเป็นบุคคลที่ทำตนเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ร่วมกับคุณสุภาพ พัสอ๋อง

อารมณ์ ได้ถ่ายทอดความรู้สึกความรักที่มีต่อครอบครัว เพื่อนผู้ใช้แรงงาน บ้านเมืองที่เป็นที่รัก เพื่อเป็นกำลังใจในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ หลังจากที่ได้รับนิรโทษกรรมได้เพียง 10 เดือน โรคร้ายก็กำเริบ อารมณ์ ต้องเข้าออกโรงพยาบาลชลประทานถึง 4 ครั้ง โดยได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดีจากแพทย์ พยาบาล จนวินาทีสุดท้ายเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งที่ตับเพียงวัย 34 ปี ท่ามกลางอาลัยของครอบครัว และเพื่อนญาติมิตร ผู้ใช้แรงงานที่ไปให้กำลังใจ ในเวลา 08.05 น.วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2523

———————————————

* จากหนังสืออารมณ์ พงศ์พงัน ปัญญาชนของขบวนการกรรมกรไทย โดยมีนภาพร อติวานิชยพงศ์ เป็นบรรณาธิการ จัดพิมพ์โดยมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน สนับสนุนการพิมพ์โดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ราคา 150 บาท สั่งซื้อได้ที่ 02-516-1589 หรือส่ง FAX- 02-516-1071 โดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ สาขาฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เลขที่ 026-0-91018-7 ชื่อบัญชีมูลนิธิอามรณ์ พงศ์พงัน (ส่งสำเนาจากธนาคารไปยังมูลนิธิฯ)

[1] กรรมกร หน้าคำนำจากผู้เขียน

[2] อ้างหนังสือกรรมกร

[3] จดหมายจากคุก

[4] กรรมกร หน้าคำนำจากผู้เขียน