อนุสรณ์เตือนใจความปลอดภัยในการทำงาน

3

10 พ.ค.59 ปีนี้ครบ 23 ปี ไฟไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ แรงงานยังถามหาความปลอดภัยในการทำงาน เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2536 ณ บริษัท เคเดอร์อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานตุ๊กตาส่งออกขนาดใหญ่ ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้บริเวณห้องเก็บข้องชั้นล่างอาคารที่ 1 ขณะที่คนงานกำลังทำงานอยู่ภายในอาคาร ทำให้คนงานกว่า 1,400 คน จาก 4 อาคาร ซึ่งเชื่อมกันอยู่ต่างวิ่งหนีกันอย่างอลหม่าน โดยเพลิงลุกไหม้อย่างรวมเร็วเพียง 15 นาทีอาคารทั้งหลังก็ถล่มลงมา ส่งผลให้คนงานเสียชีวิตจำนวนมากถึง 188 คน ขณะที่มีคนงานได้รับบาดเจ็บ พิการจำนวน 469 คน จากโศกนาฏกรรมดังกล่าวที่สร้างความสูญเสียแก่ครอบครัวจำนวนมาก ได้มีการเรียกร้องถึงความรับผิดชอบจากนายจ้างและรัฐ ถึงการสร้างระบบป้องกันด้านความปลอดภัยในการทำงาน

จากการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ก็ทำให้เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2540 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่เกิดเพลิงไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ เป็น “วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” เพื่อรำลึกถึงโศกนาฏกรรมดังกล่าว และย้ำเตือนให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันอันตราย และการดูแลความปลอดภัยในการทำงานของคนทำงานในทุกสาขาอาชีพ และรัฐยังให้สถานประกอบการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน แต่ปัญหาด้านความไม่ปลอดภัยในการทำงานก็ยังคงมีความรุนแรงและยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ใช้แรงงานได้พยายามส่งเสียงเรียกร้องเชิงโครงสร้างกฎหมายทั้งระบบ เช่น ร่วมกันในการร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยอาชีวะ อนามัยและสภาแวดล้อมในการทำงาน และให้สร้างอนุสรณ์สถานเตือนใจโศกนาฏกรรมคนงานเคเดอร์บริเวณที่เกิดเหตุเพื่อเป็นการเตือนให้ตระหนักเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน  ซึ่งภาครัฐได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติความปลอดภัย ฉบับใหม่

แม้วันนี้เสียงเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานก็ยังคงอยู่เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน ด้วยการร่วมแรงร่วมใจกันสร้าง ” อนุสรณ์เตือนใจความปลอดภัยในการทำงาน” ได้เปิดอนุสรณ์เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2558 ซึ่งตั้งอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย  ริมถนนมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ และจะมีผู้ใช้แรงงาน และญาติมาร่วมรำลึกถึง โศกนาฏกรรมคนงานเคเดอร์  นอกจากนี้ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยยังได้มีการจัดแสดงนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวของความไม่ปลอดภัยจากการทำงานโดยการจำลองเหตุการณ์อาคาร สถานที่ และชีวิตคนงานเคเดอร์ไว้ด้วย 1

จากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์นั้น สุดท้ายแล้ว เจ้าหน้าที่ได้สืบสวนสาเหตุของเพลิงมรณะครั้งนี้ และพบว่า เกิดจากความประมาทของพนักงานที่สูบบุหรี่ในโรงงาน ทำให้เกิดไฟลุกไหม้วัสดุที่ใช้ผลิตตุ๊กตา นอกจากนั้น เมื่อตรวจสอบในเชิงลึก กลับพบว่า โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยหลายประการ ทั้งไม่มีบันไดหนีไฟ ประตูทางออกฉุกเฉินกว้างไม่ได้มาตรฐาน และยังมีจำนวนน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับจำนวนของพนักงาน รวมทั้งโรงงานไม่เคยซักซ้อมการหนีไฟอย่างเป็นระบบให้กับพนักงาน

ขณะเดียวกันก็มีการวิเคราะห์กันด้วยว่า สาเหตุที่อาคารพังถล่มลงมาอย่างรวดเร็วหลังเกิดเพลิงไหม้เพียง 15 นาที เป็นเพราะโครงสร้างของอาคารไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากโรงงานแห่งนี้ต้องการประหยัดต้นทุน จึงก่อสร้างด้วยโครงเหล็กสำเร็จรูป ซึ่งไม่ทนไฟ

ภายหลังเกิดเหตุโศกนาฏกรรมในครั้งนั้นไม่ถึงเดือน นายกรัฐมนตรี (ชวน หลีกภัย) ในสมัยนั้นได้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 74/2536 ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2536 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริง และสาเหตุเกี่ยวกับกรณีเพลิงไหม้บริษัทเคเดอร์ อินดัสเทรียล (ไทยแลนด์) จำกัด และสภาวะความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมี ศ.นิคม จันทรวิทุร เป็นประธานมีนักวิชาการด้านความปลอดภัยและหลายหน่วยงานเข้าร่วมพบข้อเท็จจริงว่าบริษัทเคเดอร์ฯ มีประวัติการเกิดเพลิงไหม้มาแล้ว 3 ครั้ง (16 ส.ค.32, 2 พ.ย.34, 13 ก.พ.36) เพราะอุปกรณ์ไฟฟ้าเสื่อมและไฟฟ้าลัดวงจร[1] และด้านกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเคยตรวจโรงงานเคเดอร์ฯและไทยจิวฟูฯ เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2536 และมีหนังสือแนะนำให้นายจ้างปฏิบัติดังนี้ คือ

1.ให้จัดหาและบังคับใช้อุปกรณ์คุ้มครอง

2.ให้มีการตรวจสอบลิฟท์ขนของภายในโรงงานและห้ามพนักงานโดยสาร

3.ให้จัดทำแผนป้องกันและระงับอัคคีภัย และฝึกซ้อมดับเพลิง

////////////////////////////

[1] http://www.jorpor.com/forum/index.php?topic=7532.0