หนังสือพิมพ์กรรมกร

น.ส.พ.กรรมกร

ก่อนปี 2475 ปัญญาชนเสรีนิยมส่วนหนึ่งไปสร้างฐานทางการเมืองในหมู่คนงานในนาม “คณะกรรมกร” นำโดย ถวัติ ฤทธิเดช  ร.ต.ต.วาศ สุนทรจามร  ถวัลย์ ชาติอาษา  ขุนสมาหารหิตะคดี (โประ โปรคุปต์)

คณะกรรมกร ได้เป็นกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “กรรมกร” ที่ออกเผยแพร่ในปี พ.ศ.2465 โดยมีเหตุจูงใจจากการที่ได้เห็นสภาพการเอารัดเอาเปรียบที่นายจ้างกระทำต่อลูกจ้าง และไม่เห็นว่าจะมีใครช่วยเหลือได้ คณะกรรมกร จึงมีความประสงค์ที่จะเป็นปากเป็นเสียงของมหาชน และพวกกรรมกรสยามเพื่อที่จะทำลายสภาพการเอารัดเอาเปรียบที่ลูกจ้างถูกกระทำอยู่ในขณะนั้น

หนังสือพิมพ์กรรมกรพยายามชี้ให้กรรมกรได้เห็นถึงสิทธิต่างๆที่กรรมกรควรได้รับตามแบบอย่างของประเทศอุตสาหกรรม เช่น สิทธินัดหยุดงาน สิทธิในการก่อตั้งองค์กรพิทักษ์ผลประโยชน์ของลูกจ้าง และยังชี้ให้เห็นระบบการปกครองในขณะนั้นที่เอื้ออำนวยให้นายจ้างมีสิทธิที่เหนือกว่าลูกจ้างมากมาย

ทั้งยังเผยแพร่อุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย โดยต่อต้านผู้ปกครองแบบเจ้าขุนมูลนาย และพยายามชี้ให้เห็นถึงระบอบการปกครองเดิมที่ไม่สนใจเรื่องสิทธิเสรีภาพ ค่าจ้างสวัสดิการ และชีวิตความเป็นอยู่ของคนงาน และยังวิพากษ์วิจารณ์นายทุนต่างชาติที่เอารัดเอาเปรียบคนงานไทยโดยมีรัฐบาลให้ความร่วมมือ

ปลายปี 2467 หนังสือพิมพ์กรรมกรก็ถูกบีบให้ปิดตัวลง อันน่าจะมีสาเหตุมาจากเกิดความขัดแย้งกับเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย