มักกะสันสถานที่นี้มีประวัติศาสตร์

กำเนิดคนงานรถไฟมักกะสัน

ภายหลังกิจการรถไฟไทยเปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439  ต่อมาได้มีการสร้างโรงงานซ่อมส่วนกลางขึ้นที่มักกะสัน เปิดดำเนินการเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2453 มีหน้าที่ซ่อมหัวรถจักรและรถโดยสาร ในปี พ.ศ. 2481 กรมรถไฟฯได้ทำการขยายและปรับปรุงโรงงานมักกะสัน โดยให้มีโรงกลึงสำหรับอุปกรณ์รถจักรไอน้ำ โรงทองเหลือง รวมทั้งโรงเชื่อมไฟฟ้า โรงซ่อมรถจักร โรงซ่อมรถโดยสาร และโรงซ่อมรถบรรทุก แต่การก่อสร้างเสร็จไปเพียงบางส่วน ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ทางการเห็นว่าโรงงานมักกะสันเป็นจุดที่ไม่ค่อยปลอดภัย จึงย้ายโรงงานไปอยู่ที่แก่งคอยและนครราชสีมาในปี พ.ศ. 2486  เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงในปี พ.ศ.2488  จึงย้ายโรงงานกลับมาที่มักกะสันตามเดิม กระทั่งถึงปัจจุบัน

กำเนิดองค์กรของคนงาน

ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ตั้งแต่ พ.ศ.2462 แต่ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักการของ ILO ในด้านการคุ้มครองแรงงานเลย กรรมกรจึงถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างมาก ค่าแรงต่ำ ต้องทำงานหนัก เวลาพักผ่อนไม่เพียงพอ การประท้วงหยุดงานเพื่อต่อสู้เรื่องสิทธิสวัสดิการถือเป็นความผิดอาญา เป็นกบฎ มีโทษปรับและจำคุก

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี 2475 สมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม ที่มี ถวัติ ฤทธิเดช ปัญญาชนนักหนังสือพิมพ์เป็นผู้นำ เป็นสมาคมแรกของคนงานที่ได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมาย มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันในหมู่สมาชิก ต่อมาสมาคมของกรรมกรกว่า 60 สาขาอาชีพ รวมทั้งสมาคมของกรรมกรรถไฟ ได้รวมตัวกันเป็นองค์กรแรงงานระดับชาติชื่อ “สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย” เมื่อเดื่อนเมษายน ปี 2490 และเริ่มเรียกร้องต่อรัฐบาลในการกำหนดชั่วโมงการทำงานตามระบบ 3 แปด คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และ ศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง รวมทั้งเรื่องค่าทำงานล่วงเวลา สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง

การต่อสู้เพื่อสิทธิของคนงานรถไฟมักกะสัน

กรรมกรรถไฟจดทะเบียนก่อตั้งสมาคมขึ้นเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2489 โดยโรงงานมักกะสัน มี วิศิษฐ์ ศรีภัทรา เป็นประธานของกรรมกรรถไฟ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2477 ถึง 2495  กรรมกรรถไฟมักกะสันมีการนัดหยุดงานต่อสู้เรื่องค่าจ้าง สิทธิและสวัสดิการต่างๆ ถึง 7 ครั้ง มีข้อเรียกร้องสำคัญๆ คือ

ปี พ.ศ.2489 เรียกร้องให้กรมรถไฟสร้างบ้านพัก สร้างโรงพยาบาลให้กับคนงาน ให้มีวันหยุดประจำปี สิทธิในการโดยสารรถไฟ และการจำหน่ายข้าวสารราคาถูก

ปี พ.ศ.2493 ครั้งนี้เป็นการเรียกร้องต่อรัฐบาลเกี่ยวกับสิทธิและสวัสดิการต่างๆของลูกจ้างแรงงานทั่วประเทศที่ไม่ใช่เฉพาะกรรมกรรถไฟ เช่น ค่าแรงในวันหยุดของลูกจ้างประจำ ค่าทำงานล่วงเวลา ลาป่วย ลาบวช ลาคลอด โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ เงินชดเชยทุพพลภาพหรือเสียชีวิต และเงินบำเหน็จ ซึ่งเป็นผลให้รัฐบาลออกระเบียบเรื่องการจ่ายค่าจ้างแรงงานให้แก่กรรมกรและลูกจ้างประจำของกระทรวงทบวงกรมต่างๆและองค์การของรัฐบาล

ปี พ.ศ.2494 เพื่อประท้วงกฎระเบียบที่เข้มงวดของการรถไฟที่ให้คนงานต้องขออนุญาตผู้บังคับบัญชาถ้าจะไปเข้าส้วม และจะมีเจ้าหน้าที่ซึ่งคนงานเรียกว่า “เสมียนจดขี้” คอยจดเวลาเข้าออกส้วม และเรียกร้องให้เร่งสร้างบ้านพักนิคมมักกะสันให้เร็วขึ้น

ปี พ.ศ.2495 เกิดเหตุประท้วงฝ่ายบริหารในการสอดส่องคนงาน โดยทำห้องส้วมที่ไม่มีประตูปิด กั้นฝาแค่หัวเข่าให้เดินข้ามไป และบ้านพักในนิคมมักกะสันก็ไม่มีส้วมให้ จึงเรียกร้องให้สร้างส้วมให้เพียงพอกับคนงานเกือบ 3 พันคนทั้งในโรงงานและที่บ้านพัก เมื่อการนัดหยุดงานเกิดขึ้นก็เรียกร้องให้เพิ่มค่าครองชีพและสวัสดิการให้เพียงพอต่อภาวะค่าครองชีพสูงช่วงหลังสงครามโลก และขอให้ย้ายผู้บริหารออกไป การต่อสู้ครั้งนี้ผู้นำกรรมกรต้องถูกจับกุมในข้อหากบฎ ที่เรียกกันว่า “กบฎมักกะสัน” แต่สุดท้ายฝ่ายกรรมกรก็ประสบชัยชนะ รัฐบาลยอมตามข้อเรียกร้อง และศาลก็ตัดสินยกฟ้องบรรดาแกนนำ

คนงานเขียนประวัติศาสตร์ที่มักกะสัน

การเคลื่อนไหวเรียกร้องของกรรมกรรถไฟ ได้เป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการเกิดกฎหมายแรงงานในเวลาต่อมา โดยเมื่อ “สหอาชีวะกรรมกร” ถูกอำนาจรัฐเผด็จการในยุคนั้นทำให้ต้องสลายตัวไป กรรมกรสาขาอาชีพต่างๆได้รวมตัวกันเป็น “กรรมกร 16 หน่วย” ร่วมขับเคลื่อนจนเกิดกฎหมายแรงงานฉบับแรกในปี พ.ศ.2499 แต่ก็ถูกยกเลิกไปเมื่อจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารในปี 2501 แล้วปกครองประเทศด้วยอำนาจเผด็จการ ขบวนการแรงงานถูกอำนาจรัฐเข้าแทรกแซงทำลาย  จนภายหลังรัฐประหาร รสช. ปี2534 อำนาจเผด็จการก็ใช้กฎหมายแยกสลายแรงงานรัฐวิสาหกิจจากภาคเอกชน ทำให้ขบวนการแรงงานอ่อนแอลงมากจากที่เคยเป็นขบวนการทางสังคมที่เข้มแข็งในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมมาในอดีต ฝ่ายแรงงานจึงคิดทำพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวทั้งในแง่คุณค่าของแรงงานที่มีส่วนในการพัฒนาประเทศมาโดยตลอด และการต่อสู้เรียกร้องที่กลายเป็นบรรทัดฐานของกฎหมายในเรื่อง สิทธิ ค่าจ้าง และสวัสดิการของคนทำงานทุกคนในสังคม

ภาพด้านหน้าพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของนักวิชาการประวัติศาสตร์ และองค์กรของผู้ใช้แรงงาน ที่ได้ร่วมกันลงขันลงแรงโดยใช้อาคารเก่าที่ถนนมักกะสัน ซึ่งเคยเป็นสถานีตำรวจรถไฟและที่ทำการเก่าของสหภาพแรงงานรถไฟเป็นที่จัดทำพิพิธภัณฑ์  โดยมีสภาพแรงงานรถไฟฯเป็นผู้ประสานขอใช้สถานที่จากการรถไฟฯและกระทรวงคมนาคม

พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเปิดเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2536 ให้คนเข้าชมได้โดยไม่เก็บเงินมาจนถึงปัจจุบัน เนื้อการจัดแสดงแบ่งเป็นห้องต่างๆตามยุคสมัย ประกอบด้วย

ห้องแรงงานบังคับไพร่-ทาส แสดงเรื่องราวของแรงงานไพร่-ทาสที่เป็นฐานสำคัญในการผลิตหล่อเลี้ยงสังคมในระบบศักดินา และเรื่องราวการเปิดประเทศเมื่อครั้งทำสนธิสัญญาเบาริ่ง พ.ศ.2398 กับอังกฤษ ที่เกิดอุตสาหกรรมแบบตะวันตกขึ้นในสยาม

ห้องกุลีจีน  เป็นเรื่องราวของแรงงานจีนที่เป็นแรงงานรับจ้างกลุ่มแรกในสยาม และมีส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจไทยมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ห้องการปฏิรูปประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 บอกเล่ายุคสมัยของการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย ซึ่งระบบ ไพร่-ทาส และขุนนางถูกยกเลิกไป แรงงานไทยกลายเป็นแรงงานอิสระที่มีส่วนอย่างสำคัญในกระบวนการปฏิรูปพัฒนาประเทศ

ห้องสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่การเกิดระบอบประชาธิไตยในสังคมไทยทำให้แรงงานมีสิทธิตามกฎหมายในการรวมตัวเรียกร้องเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น

ห้องสงครามโลกถึงสงครามเย็น แสดงถึงบรรยากาศความทุกข์ยากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมื่อโลกก้าวสู่สงครามเย็น ประเทศไทยก็ถูกปกครองด้วยอำนาจเผด็จการ  ผู้นำแรงงานถูกปราบปรามทำลาย

ห้องจิตร ภูมิศักดิ์ เรียนรู้เรื่องราวของศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน ทั้งบทเพลงและวรรณกรรม ที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนหนุ่มสาวที่กลายเป็นพลังสำคัญในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในสังคม

ห้องประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ห้องโถงใหญ่ที่รวมเอาเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญต่างๆในยุคปัจจุบันมาจัดแสดง ตั้งแต่ เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 เรื่องราวของแรงงานหญิง แรงงานเด็ก แรงงานแรงงานนอกระบบ แรงงานรถสิบล้อ นักมวย แรงงานรัฐวิสาหกิจ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ กรณีไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ และยุควิกฤตเศรษฐกิจ ที่นำมาสู่กระแสสังคมในการทบทวนการพัฒนาประเทศที่มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมตะวันตกจนละลืมเลือนพื้นฐานอันเข้มแข็งของประเทศที่เป็นเกษตรกรรมไป

เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ถึงทุกวันนี้  พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยได้ช่วยเติมเต็มประวัติศาสตร์ที่ขาดหายไปของแรงงานไทย ที่อาบเหงื่อต่างน้ำ กรำแดดกรำฝน มีส่วนในกระบวนการพัฒนาประเทศมาตั้งแต่อดีต พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ได้ทำให้คนทั่วไปได้รับรู้ถึงคุณค่าของขบวนการแรงงาน ที่ก่อคุณูปการต่อผู้คนในสังคมตลอดมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

/////////////////////////////////