รำลึก 25 ปี การก่อเกิดพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

โดย อ.ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา

กลางปีพ.ศ. 2533 ผมได้ตัดสินใจลาออกจากการเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่สถาบันเทคโนโลยีสังคม(เกริก)ภายหลังจากร่วมกับเพื่อนอาจารย์จัดตั้งสหภาพแรงงานอาจารย์มหาวิทยาลัยสำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทยไม่นาน ทั้งนี้เพื่อมาทำงานเป็นกึ่งนักวิชาการกึ่งนักกิจกรรมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ด้านส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิแรงงานซึ่งเป็นประเด็นที่ผมสนใจตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา

สิ่งที่ผมต้องขบคิดคือจะเอาวิชาความรู้อะไรที่ตัวเองมีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับงานใหม่ซึ่งผมมองว่ามันเป็นงานที่ท้าทายมาก อันที่จริงในวัยเด็กผมไม่เคยเป็นเด็กเรียน คือชอบสนุกเล่นไปวัน ๆ จะสนใจเรียนก็เฉพาะในวิชาที่ตนชอบเท่านั้นซึ่งไม่ค่อยมี คือนอกจากศิลปะซึ่งผมชอบมากแล้ววิชาการที่ผมให้สนใจมาแต่วัยเยาว์คือ “วิชาประวัติศาสตร์” ผมชอบเรียน ชอบฟังเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ ชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์มาก เริ่มใช้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นคอลัมนิสต์เขียนบทความด้านประวัติศาสตร์ให้กับนิตยสารมาตั้งแต่เรียนปริญญาตรีและเมื่อเข้าศึกษาระดับปริญญาโทก็เริ่มประกอบอาชีพด้วยการเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาประวัติศาสตร์

เมื่อสำเร็จการศึกษาคุณโดม สุขวงศ์ นักฝันที่มองเห็นคุณค่าและความจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานรวบรวมและอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์เพื่อให้เป็นมรดกของชาติต่อไป ได้มาชักชวนให้มาช่วยกันบุกเบิกงานหอภาพยนตร์ซึ่งขณะนั้นสังกัดอยู่กับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร 2 ปีที่หอภาพยนตร์ทำให้ใกล้ชิด พิสมัยในงานพิพิธภัณฑ์เป็นพิเศษ และปี 2527 หอภาพยนตร์ได้ส่งผมไปเข้าคอร์สอบรมการทำหอภาพยนตร์ที่กรุงเบอร์ลิน ที่นั่นผมได้ตระเวนดูพิพิธภัณฑ์ทั้งในฟากตะวันออกซึ่งยังปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์และในเบอร์ลินตระวันตก ทำให้ผมตระหนักในความสำคัญ พลังและหลงใหลในพิพิธภัณฑ์อย่างโงหัวไม่ขึ้น

เมื่อลาออกจากหอภาพยนตร์ผมไปเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์อีก 6 ปี ระหว่างเป็นอาจารย์เมื่อมีการฉลอง 200 ปีความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ทุนประเทศไทยทำ ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา(พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์อยุธยา) อาจารย์ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภาที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของผมมาเป็นหัวหน้าโครงการฝ่ายไทยได้ชวนผมเข้าไปร่วมเป็นทีมงานในการจัดทำพิพิธภัณฑ์นั้นด้วย ทำให้ได้มีโอกาสร่วมงานและเรียนรู้วิธีการทำพิพิธภัณฑ์กับทีมนักวิชาการจากประเทศญี่ปุ่น

เหล่านี้ทำให้ผมมีอาการ “ร้อนวิชา” อยากทำพิพิธภัณฑ์ที่เป็นเรื่องราวของสามัญชนคนธรรมดาให้กับประเทศนี้ เคยปรึกษาหารือกับศ.ชัยอนันต์ สมุทวณิชถึงความเป็นไปได้ของการจะทำพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ได้เป็นรูปเป็นร่าง

ดังนั้นเมื่อต้องมารับผิดชอบงานด้านแรงงานอย่างเต็มตัวที่มูลนิธิ ผมจึงเริ่มฝันที่จะทำพิพิธภัณฑ์แรงงานขึ้น จากนั้นก็ได้นำความฝันนี้ไปขาย ขยายวง ชวนคนที่รู้จักมักคุ้นซึ่งทำงานอยู่ในแวดวงต่าง ๆ ทั้งวิชาการ ประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ จดหมายเหตุ ศิลปิน ขบวนการแรงงานและที่สำคัญคือมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ทซึ่งผมทำงานอยู่ด้วยให้มาฝันร่วมกัน
หลังจากขายฝันอยู่นานนับปีในที่สุด “พิพิธภัณฑ์แรงงาน” ก็ได้กลายเป็นความฝันร่วมกันของหลาย ๆ คน ที่สำคัญคือผู้นำแรงงานกลุ่มที่ผมและมูลนิธิทำงานใกล้ชิดด้วยที่เรียกกันว่า กลุ่มสหพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทยที่นำโดยคุณนิคม เต็งใหญ่และคุณปิยะเชษฐ์ แคล้วคลาดซึ่งมีความมุ่งมั่นอยากสร้างเอกภาพให้กับขบวนการแรงงานไทย ในที่สุดคณะของเราที่เป็นกลุ่มผู้ก่อการกลุ่มเล็ก ๆ ก็ได้ตกลงจัดให้มีการประชุมครั้งสำคัญเพื่อขยายความคิดและมุ่งหมายให้กิจกรรมนี้เป็นจุดเริ่มต้นนับหนึ่งให้กับการทำความฝันของพวกเราให้เป็นความจริง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม 2534 ที่ห้องประชุมซึ่งดัดแปลงจากห้องสมุดของมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท สำนักงานเก่าตรงถนนศรีอยุธยาซอย 6

วงสนทนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจากหลากหลายวงการ 33 คน ที่สำคัญมากในวันนั้นก็คือ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ทที่ผมทำงานอยู่กำลังจะเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการใหม่ และวันนั้นเป็นวันแรกที่ว่าที่ผู้อำนวยการคนใหม่ของมูลนิธิฯ คือคุณสเตฟาน โครบอท เข้ามาเยือนสำนักงานเป็นครั้งแรก คุณโครบอทซึ่งมีภูมิหลังเป็นคนงานเหล็กได้เข้ามาทักทายผู้ร่วมประชุมด้วยถ้อยคำสั้น ๆ ไม่กี่คำ แต่คำพูดไม่กี่คำของเขาทำให้ผมรู้สึกได้ทันทีว่า เขาผู้นี้จะต้องเป็นคนสำคัญที่ทำให้ฝันของพวกเราปรากฏเป็นจริงซึ่งก็ไม่ผิดจากที่คิด

เราตระเตรียมจัดทำพิพิธภัณฑ์แรงงานของเราท่ามกลางสถานการณ์ที่ประชาชนรวมทั้งขบวนการแรงงานได้เข้าร่วมต่อสู้ขับไล่เผด็จการทหารซึ่งประสบความสำเร็จในเดือนพฤษภาคม 2535 ชัยชนะของประชาชน บรรยากาศทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเป็นสภาพแวดล้อมที่ทำให้เราเตรียมทำพิพิธภัณฑ์ของเราอย่างมีพลังมาก เนื้อหาเรื่องราวการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แรงงานของเราได้สอดแทรกประวัติศาสตร์การต่อสู้กับเผด็จการทหารเข้าไปด้วย การที่ขบวนการแรงงานได้เข้าร่วมต่อสู้ขับไล่เผด็จการทหารในครั้งนั้น ทำให้ภาพลักษณ์ของขบวนการแรงงานไทยดูโดดเด่นมาก บทบาทของคุณสมศักดิ์ โกศัยสุขในฐานะ 1 ในแกนนำต่อสู้กับเผด็จการ ทำให้เสียงของแรงงานดังขึ้นอีกนิดในบ้านเมือง ที่สำคัญคือคุณสมศักดิ์ โกศัยสุขประสบความสำเร็จในการเจรจาเพื่อขอใช้อาคารสถานีตำรวจรถไฟเก่าที่มักกะสันเป็นสถานที่ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

การทำพิพิธภัณฑ์แม้จะเป็นเรื่องใหม่ ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่ผู้นำแรงงานจากหลากหลายองค์กรด้วยความสนับสนุนจากคนในหลากหลายแวดวงได้ร่วมกันทำงานอย่างทุ่มเท ทำให้ในที่สุด 17 ตุลาคม 2536 พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยก็ได้มีพิธีเปิดอย่างยิ่งใหญ่ และมีอายุยืนยาวกว่า 25 ปีแล้วในวันนี้ เป็นพิพิธภัณฑ์ประชาชนที่ขบวนการแรงงานเป็นเจ้าของจริง ๆ อาจกล่าวได้ว่าพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เป็นอนุสาวรีย์แห่งชัยชนะของประชาชนต่อเผด็จการทหารรสช. แห่งแรก ที่ถูกสร้างขึ้น

ด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์แรงงานจะมีอนุสาวรีย์ ที่เราให้ชื่อกันว่า อนุสาวรีย์ ศักดิ์ศรีแรงงาน ซึ่งออกแบบโดยศิลปินสุรพล ปรีชาวชิระ ซึ่งเป็นรูปคนงานชายหญิง ผลักกงล้อประวัติศาสตร์ โดยใต้กงล้อมีรถถังซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเผด็จการทหารถูกบดขยี้

////////////////////////////////////////////////