ทนง โพธิอ่าน : คนกล้าของขบวนการแรงงานไทย

20160619_093157

วันนี้(19มิถุนายน2559)ครบรอบ 25 ปีการหายตัวไปของทนง โพธิอ่าน ผู้นำแรงงาน ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยได้จัดแสดงเรื่องราวของทนง โพธิอ่าน ไว้ภายในเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงคุณูปราการ การต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมกับอำนาจรัฐแบบไม่สะทกสะท้าน ด้วยจิตรคารวะ และขอนำบทความของอาจารย์ ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์แรงงานมานำเสนอ

 ทนง โพธิอ่าน : คนกล้าของขบวนการแรงงานไทย

โดย..ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา

เมื่อกลุ่มทหารที่เรียกตนเองว่าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เข้าทำการรัฐประหารแย่งยึดอำนาจการปกครองจาก พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีผู้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและสถาปนา “ระบอบ รสช.” ขึ้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534นั้น สังคมไทยได้ถูกปกคลุมด้วยเมฆหมอกแห่งอธรรม สิทธิ เสรีภาพของประชาชนถูกลิดรอน ประชาธิปไตยเหือดแห้ง ผู้คนถูกกำราบด้วยกฎอัยการศึก

แม้เงาทะมึนแห่งอำนาจเผด็จการจะสามารถสยบการเคลื่อนไหวของผู้รักประชาธิปไตยลงไปได้ระดับหนึ่ง ทว่าไม่อาจหยุดยั้งกรรมกรประชาธิปไตยที่ชื่อ “ทนง โพธิอ่าน” ได้ เขาไม่เคยสะทกสะท้านกับอำนาจอันมิชอบธรรมเหล่านั้น ตรงกันข้ามกลับยิ่งวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจอันไม่เป็นธรรมของคณะ รสช.อย่างตรงไปตรงมาและรุนแรงขึ้น

26 กุมภาพันธ์ รสช.ได้เรียกผู้นำแรงงานทั่วประเทศเข้าพบเพื่อชี้แจงนโยบายและเหตุผลในการยึดอำนาจ โดยมีพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นผู้ชี้แจง ในการชี้แจงครั้งนี้ พลเอกสุจินดาได้พูดว่า “ทุกข์ของกรรมกรถือเป็นทุกข์ของทหาร” สำหรับทนง โพธิอ่าน เขาเห็นว่าคำพูดเหล่านั้นเป็นเพียงลมปากที่ไม่อาจเชื่อถือได้

และต่อมาไม่นานนัก รสช.ก็สำแดงธาตุแท้ออกมา โดยประกาศจะลิดรอนสิทธิสหภาพแรงงานของคนงานรัฐวิสาหกิจ ทนงได้ลุกขึ้นคัดค้านอย่างรุนแรง โดยมิเกรงกลัวอำนาจล้นฟ้าของคณะ รสช. เขาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “ถ้าคณะ รสช.ยังยืนยันจะดำเนินการในเรื่องนี้ ไม่เฉพาะคนงานในสหภาพรัฐวิสาหกิจเท่านั้นที่จะเคลื่อนไหว แต่ผู้ใช้แรงงานทุกระดับคงคัดค้านแน่” และเขายังประณามการประกาศใช้กฎอัยการศึกว่า เป็นการปิดหูปิดตาประชาชน

20160619_093315

ทนงได้เรียกประชุมสภาแรงงานแห่งประเทศไทยเพื่อพิจารณามาตรการตอบโต้คณะ รสช.ในประเด็นแยกรัฐวิสาหกิจออกจากกฎหมายแรงงาน ภายหลังการประชุมเขาได้แสดงทัศนะอย่างแข็งกร้าวต่อคณะ รสช.ว่า

“ทหารกำลังสร้างปัญหาให้กับกรรมกรด้วยการยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและออกประกาศ รสช. ฉบับที่ 54 และขอฝากเตื่อนถึงบิ๊กจ๊อด อย่านึกว่าเป็นใหญ่ในแผ่นดินแล้วจะทำอะไรก็ได้ ต้องฟังเสียงประชาชนบ้าง และเวลานี้ทหารทำให้กรรมกรเป็นทุกข์ ดังนี้นควรทำอะไรให้รอบคอบ วันนี้สามช่า วันหน้าอาจไม่มีแผ่นดินอยู่”

พลเอกสุจินดา คราประยูร กล่าวว่า “ถ้ามีการเคลื่อนไหวของคนงานในการคัดค้านการยุบเลิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ สภา รสช.มีมาตรการอยู่แล้วแต่บอกไม่ได้ว่าจะทำอะไรเรามีแผนตลอด ”

เมื่อรัฐบาลประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกก็มีข่าวการชุมนุมใหญ่ของกรรมกร ในตอนค่ำได้มีคำสั่งให้ทหารทุกหน่วยเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ

ทนง โพธิอ่าน เป็นผู้นำแรงงานที่ได้รับการยอมรับทั้งภายในและระหว่างประเทศ เขามีตำแหน่งเป็นรองประธานภาคพื้นเอเชียแปชิฟิกของสมาพันธ์แรงงานเสรีแรงงานระหว่างประเทศหรือ ICFTU

ฉะนั้นการเคลื่อนไหวของทนงจึงได้รับการตอบสนองจากขบวนการแรงงานสากลอย่างกว้างขวาง ในฐานะตัวเชื่อมระหว่างขบวนการแรงงานไทยกับขบวนการแรงงานสากล ทำให้ทนงถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ ถึงขณะที่พลเอกสุจินดา คราประยูรรองประธานสภา รสช.เคยกล่าวหาเขาว่า “ผู้นำแรงงานบางคนตัวเป็นไทย แต่ชอบทำตัวเป็นทาส” หาว่าเขาเป็นผู้ชักศึกเข้าบ้าน ซึ่งทนงก็ตอบโต้ความไร้เดียงสาของพลเอกสุจินดาว่า ในฐานะกรรมกรและเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกการหนุนช่วยทางสากลนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา หากจะไม่ให้ต่างชาติเข้ามายุ่งเกี่ยวก็ทำเสียให้ถูกต้อง

วันที่ 14 มิถุนายน 2534 สภาแรงงานแห่งประเทศไทยภายใต้การนำของทนงได้จัดการประชุมใหญ่กลางท้องสนามหลวงเย้ยอำนาจ รสช.เรียกร้องให้คืนสหภาพแรงงานให้คนงานรัฐวิสาหกิจและยกเลิกประกาศ รสช.ฉบับ 54

ทนงถูกสั่งห้ามมิให้เดินทางไปร่วมประชุมประจำปีขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศเพราะเกรงว่าจะนำเรื่องการยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและประกาศ รสช. ฉบับที่ 54 ไปประณามกลางที่ประชุมนานาชาติ

ทนงผู้นำแรงงานตัวเล็ก ๆ แต่หาญกล้าท้าทายอำนาจ รสช.ทำให้เขาถูกขนานนามโดยสื่อมวลชนว่าเป็น  “หมูไม่กลัวปังตอ”

ทนง เคยบอกกับ รัชนีบูรณ์ โพธิอ่าน ภรรยา ว่าเขากำลังถูกข่มขู่และติดตามทุกฝีก้าว พร้อมกับสั่งเสียว่าถ้าเขาหายไปจากบ้าน 3 วันแสดงว่าเขาถูกจับตัวไป และถ้าหายไป 7 วันแสดงว่าเขาเสียชีวิตแล้ว

ทนง โพธิอ่าน คือนักต่อสู้ที่ต่อสู้ด้วยสำนึก แม้ว่ารู้ว่าภยันตรายรออยู่เบื้องหน้า เขากล้าเกินกว่าที่จะกลัวคำว่าตาย

และแล้ววันที่ 19 มิถุนายน 2534 เขาก็ได้ถูกทำให้หายตัวไปอย่างลึกลับไร้ร่องรอย จากนั้นก็ไม่มีผู้ใดพบเห็นหรือได้ข่าวที่แท้จริงเกี่ยวกับทนงอีกเลย

ฝ่ายเผด็จการจงใจที่จะทำให้เขาหายสาบสูญไป เพื่อยุติการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและเพื่อสิทธิของมวลผู้ใช้แรงงาน ทว่าตรงกันข้าม ทนงหายไปแต่เพียงร่าง แต่ชื่อเสียงและจิตใจแห่งการเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จิตใจกล้าหาญเด็ดเดี่ยวที่ยืนหยัดท้าทายอำนาจเผด็จการของเขากลับไม่อาจทำให้สูญหายไปได้ ยิ่งนานวันกลับยิ่งเด่นชัดขึ้น

ในยามที่บ้านเมืองถูกปกคลุมด้วยอำนาจอันมืดมิดของเผด็จการ รสช. ทนง โพธิอ่าน เป็นเทียนเล่มน้อยที่จุดประกายแห่งการต่อสู้คัดค้านเผด็จการ เขาเป็นเทียนเล่มน้อยที่ยอมเผากายตนเองเพื่อให้แสงแห่งประชาธิปไตยเจิดจ้าขึ้นในสังคม

เขาเป็นคบเพลิงไม้แรกที่ถูกส่งทอดให้แก่นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเดือนพฤษภาคม ใครก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำจัดทนง โพธิอ่าน เขาคือผู้ทำลายครอบครัวโพธิอ่าน เขาคือผู้ทำลายบุคคลากรที่ดีที่สุดคนหนึ่งของขบวนการประชาธิปไตยไทย และเขาได้ทำลายผู้นำที่ดีที่สุดคนหนึ่งของขบวนการแรงงานไทย

ทนง โพธิอ่านคือนักรบที่ยอมพลีชีพในสนามรบ เขาตายอย่างสมเกียรติระหว่างปฏิบัติหน้าที่ เขาสมควรได้รับการยกย่องในฐานะวีรบุรุษประชาธิปไตย หลับให้สนิทเถิด ทนง โพธิอ่าน คนกล้าแห่งขบวนการแรงงานไทย

////////////////////////