กลุ่มคนในสังคมจารีตของไทย

สังคมไทยในสมัยจารีตแบ่งกลุ่มคนในสังคมอย่างกว้าง ๆ เป็น 2 ชนชั้นใหญ่ คือ ชนชั้นปกครองและชนชั้นที่ถูกปกครอง

ชนชั้นปกครองประกอบด้วยพระมหากษัตริย์ เจ้านาย และขุนนาง พวกเจ้านายและขุนนางนั้นบางทีเรียกรวม ๆ กันว่า พวกมูลนาย ส่วนชนชั้นที่ถูกปกครอง ได้แก่ ไพร่และทาส โดยมีพระสงฆ์เป็นตัวกลางในการเชื่อมชนชั้นต่าง ๆ เข้าด้วยกัน นอกจากนั้น นับแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมายังมีพวกชาวจีนอพยพ ซึ่งเป็นชาวต่างประเทศ อยู่นอกระบบไพร่และระบบศักดินาแต่เป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในสังคม โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ส่วนชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ เช่น พวกมอญ เขมร ลาว ญวน จาม และแขกชวา จะถูกควบคุมอยู่ในระบบไพร่ อาจสรุปว่ารายละเอียดเกี่ยวกับกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคมไทยสมัยจารีตได้ดังนี้

  1. พระมหากษัตริย์ แนวคิดที่ใช้เป็นหลักในการกำหนดฐานะและอำนาจหน้าที่ของพระมหากษัตริย์นั้นวิวัฒนาการจากแนวคิดพ่อขุน มาเป็นธรรมราชา ในสมัยสุโขทัย แล้วเป็น เทวราชา ในสมัยอยุธยา เมื่อเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แม้ว่ากรอบของความเป็นเทวราชาจะยังคงอยู่ แต่เนื้อหาสาระที่ปฏิบัตินั้นมีลักษณะของความเป็นธรรมราชามากกว่า และแนวคิดทางพุทธศาสนามีอิทธิพลต่อการปกครองอยู่มาก พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของอาณาจักร ทรงเป็นเจ้าชีวิต กล่าวคือ ทรงมีพระราชอำนาจเหนือชีวิตของคนทุกคนในสังคมและในทางทฤษฎีทรงเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมดในราชอาณาจักร จึงเรียกพระองค์ในอีกนามหนึ่งว่า พระเจ้าแผ่นดิน สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลักสำคัญในการปกครองอาณาจักร เป็นเนื้อหาสาระสำคัญของรัฐ รัฐและพระมหากษัตริย์มีความแนบเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังคำกลอนที่ว่า
    อันพระนครทั้งหลาย          ก็เหมือนกับกายสังขาร
    กษัตริย์คือจิตวิญญาณ       เป็นประธานแก่ร่างอินทรีย์
  1. เจ้านาย คือพวกพระญาติต่าง ๆ รวมทั้งพระราชโอรส พระราชธิดา ของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นชนชั้นที่มีการสืบสายเลือด พวกเจ้านายเป็นชนชั้นที่ได้รับเกียรติยศและได้รับอภิสิทธิ์มาแต่กำเนิด แต่อำนาจของเจ้านายแต่ละพระองค์จะไม่เท่าเทียมกัน จะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตำแหน่งทางราชการ กำลังคนในความควบคุม และความโปรดปรานที่พระมหากษัตริย์ทรงมีต่อเจ้านายพระองค์นั้น
  2. ขุนนาง เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคมจารีตของไทยที่มีทั้ง อำนาจ อภิสิทธิ์ และเกียรติยศ เป็นชนส่วนน้อยในสังคมที่มีโอกาสเข้ารับราชการ ได้ใกล้ชิดศูนย์อำนาจทางการเมือง มีส่วนร่วมในการช่วยพระมหากษัตริย์ปกครองอาณาจักร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นตัวจักรกลในการบริหารงานราชการต่าง ๆ พวกขุนนางจึงมีอำนาจและบทบาทในทางการเมือง ในทางสังคม พวกขุนนางอยู่ในฐานะชนชั้นสูง ได้รับการยกย่องและมีข้าทาสบริวารแวดล้อม ส่วนในทางเศรษฐกิจนั้น พวกขุนนางได้ประโยชน์จากพวกไพร่ที่อยู่ในความควบคุม ในการเพิ่มพูนโภคทรัพย์ทั้งทางด้านการเกษตรและการค้ากับต่างประเทศ พวกขุนนางจึงมีฐานะมั่งคั่ง
  3. พระสงฆ์ แม้ว่าคณะสงฆ์จะมีจำนวนสมาชิกไม่มาก แต่ก็เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญต่อสังคมศักดินาในสมัยจารีต ทั้งในด้านการอบรมศิลปวิทยาการ และการเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างชนชั้นปกครอง (พระมหากษัตริย์ เจ้านาย ขุนนาง) กับพวกไพร่หรือสามัญชน
  4. ไพร่ หมายถึง ราษฎรสามัญทั่วไปทั้งชายและหญิง ที่มิได้เป็นมูลนาย และมิได้เป็นทาส ไพร่ทุกคนจะต้องลงทะเบียนขึ้นสังกัดกับมูลนายซึ่งได้แก่ เจ้านายและขุนนาง คนส่วนใหญ่ในสังคมประมาณร้อยละ 80-90 จะเป็นไพร่ ชนชั้นไพร่ซึ่งมีจำนวนคนอยู่มากนับเป็นพื้นฐานของสังคมไทยสมัยจารีต และเป็นฐานอำนาจที่สำคัญยิ่งของชนชั้นปกครองทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
  5. ทาส เป็นคนส่วนน้อยของสังคม ในปัจจุบันนักประวัติศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่าสังคมไทยมีทาสตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยในระยะเริ่มแรกคงเป็นทาสเชลยศึก ในสมัยโบราณอยู่กันเป็นชนเผ่า เมื่อมีการต่อสู้รบพุ่งกัน ฝ่ายที่รบชนะก็จะฆ่าคนของฝ่ายที่แพ้ตายหมด แล้วเอาแต่ทรัพย์สมบัติไป ต่อมาเมื่อมีความเจริญมากขึ้น มีการเพาะปลูกต้องการแรงงานคนมาช่วยทำการเกษตรจึงเปลี่ยนวิธี เวลารบชนะก็กวาดต้อนผู้คนมาเป็นทาส เรียกกันว่า ทาสเชลยศึก ตามหลักฐานที่มีอยู่ ทาสในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์แบ่งกว้าง ๆ ได้เป็น 2 ประเภทคือ
    1. ทาสที่สามารถซื้ออิสรภาพของตนเองคืนได้ เรียกว่า ทาสสินไถ่ ทาสสินไถ่นี้แท้ที่จริงแล้วก็คือ พวกไพร่นั่นเอง แต่ยากจนลงจึงต้องไปกู้เงินพวกเจ้านายหรือขุนนางมาใช้จ่าย เมื่อไม่สามารถจะหาเงินมาคืนได้ตามเวลาที่กำหนด ก็ต้องขายตนเอง บุตร หรือภรรยาไปเป็นทาส พอมีเงินค่อยไปซื้ออิสรภาพกลับคืนมา ทาสสินไถ่จึงอยู่ในฐานะไพร่บ้าง ทาสบ้าง แล้วแต่โอกาส
    2. ทาสที่ซื้ออิสรภาพของตนเองไม่ได้ ได้แก่ ทาสเชลยศึกและลูกทาสเชลยศึก ทาสพวกนี้ไม่มีสิทธิใด ๆ เลย
  1. ชาวจีนอพยพ ชาวจีนเป็นคนต่างชาติที่คนไทยคุ้นเคยและคบหาสมาคมต่อเนื่องกันมายาวนาน เนื่องจากการติดต่อค้าขายระหว่างจีนกับดินแดงที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันมีมานานนับพันปีแล้ว ส่วนชุมชนชาวจีนในประเทศไทยนั้น ในช่วงสังคมจารีตสมัยรัตนโกสินทร์ ปัจจัยผลักดันทางด้านฝ่ายจีนที่ทำให้เกิดการอพยพมีอยู่ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว เกิดความไม่สงบขึ้นทางภาคใต้ของจีน เช่น เกิดการจราจล ทุพภิกขภัย อุทกภัย สงครามฝิ่น (พ.ศ. 2382-2385) และปัญหาทางการเมืองอื่น ๆ ความวุ่นวายเหล่านี้ทำให้ชาวจีนจำนวนมากจากทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ (มณฑลกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน เกาะไหหลำ) อพยพหนีภัยไปอยู่ในดินแดนอื่น ๆ เพื่อแสวงหาโอกาสและชีวิตที่ดีกว่า