25 ปี แห่งศักด์ศรีแรงงาน พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

งานครบรอบ 25 ปี พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

ความเป็นมา

การก่อเกิดของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเมื่อ 25 ปีก่อนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นเรื่องใหม่ในทัศนะของผู้คนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องแรงงานที่เห็นว่าไม่เกิดประโยชน์อะไรต่อขบวนการแรงงาน นั่นยังไม่พูดถึงความรู้สึกนึกคิดของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยที่มองว่าพิพิธภัณฑ์เป็นเพียงที่เก็บของเก่าไร้ค่า

ทว่ากลับเกิดปัจจัยที่เป็นแรงผลักให้เกิดความคิดจัดทำพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยขึ้นมา นั่นคือขบวนการ แรงงานไทยตระหนักถึงการต้องสร้างเอกภาพและความเข้มแข็งให้กับขบวนการแรงงาน เพราะก่อนหน้านั้นก็เกิดความแตกแยกเรื่อยมานับแต่มีความขัดแย้งและเกิดการแยกตัวจากสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทยเพื่อตั้งสมาพันธ์แรงงานเมื่อปี 2525 รวมทั้งจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดการรัฐประหารโดย รสช.เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ที่ซ้ำเติมให้ขบวนการแรงงานไทยต้องอ่อนแอไร้พลังลงไปอีก เมื่อมีการออกกฎหมายโดยรัฐบาลเผด็จการ รสช.ควบคุมการเคลื่อนไหวของแรงงานอย่างเข้มงวดและยังแยกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจออกจากภาคเอกชนอีกด้วย

กลุ่มสหพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย จึงถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยมีนโยบายสร้างความเป็นเอกภาพ ต่อสู้เพื่อการกินดีอยู่ดีของแรงงาน และสร้างสรรค์ประชาธิปไตย โดยการสร้างเอกภาพนั้น เห็นว่าต้องให้มีการทำงานร่วมกันโดยเฉพาะเรื่องที่สร้างจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์และเชิดชูเกียรติภูมิบรรพบุรุษของแรงงาน จึงได้นำไปสู่การเสนอโครงการ “ชำระประวัติศาสตร์ขบวนการแรงงานและเตรียมจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย” ณ ห้องประชุมมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท เมื่อ 1 ธันวาคม 2534

ในที่สุด จากความร่วมไม้ร่วมมือทุ่มเทแรงกายแรงใจของคนกลุ่มต่างๆประกอบด้วย องค์กรแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน หน่วยงานราชการ นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ และศิลปินสาขาต่างๆ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยก็เกิดขึ้นมาโดยเปิดบริการต่อสาธารณชนเมื่อ 17 ตุลาคม 2536

นับจากวันนั้น เป็นเวลา 25 ปีแล้วที่พิพิธภัณฑ์หยัดยืนอยู่มาได้ แม้จะยังมิอาจเรียกได้ว่ามั่นคงนัก ด้วยเพราะยังขาดการสนับสนุนที่เพียงพอด้านทุนดำเนินงาน ทว่าภายใต้ข้อจำกัดด้านเงินทุนใช้จ่าย พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยกลับแสดงบทบาทอันทรงคุณค่ายิ่งต่อสังคมไทยและขบวนการแรงงาน พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยในวันนี้ มิได้เป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยวที่มีบรรจุอยู่ในแผนที่การท่องเที่ยว และมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศแวะเวียนมาเยี่ยมชมอยู่เสมอเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือนห้องเรียนด้านจิตสำนึกอุดมการณ์สำหรับนักสหภาพแรงงาน รวมไปถึงนักเรียนนักศึกษาจากสถาบันต่างๆกว่า 20 แห่งที่ครูบาอาจารย์ส่งให้มาเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของแรงงาน นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการพัฒนาหนุนเสริมศักยภาพของนักสหภาพแรงงานในด้านทักษะที่จำเป็นเพื่อการบริหารจัดการองค์กรให้มีเอกภาพ รวมทั้งการยกระดับทักษะด้านการสื่อสารของแรงงานให้มีประสิทธิภาพ

ส่วนบทบาทของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยที่เมื่อตอนริเริ่มก่อตั้งมีความปรารถนาจะให้เป็นสถาบันกลางของแรงงานสำหรับการค้นคว้าวิจัยและฝึกอบรม ก็คงต้องอาศัยพลังความร่วมมืออย่างจริงจังของพี่น้องผู้ใช้แรงงานกลุ่มต่างๆเช่นเดียวกับเมื่อแรกก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยแห่งนี้จนสำเร็จขึ้นมา

กำหนดการงาน “25 ปี ศักดิ์ศรีแรงงาน”

ในโอกาสครบรอบ 25 ปี แห่งการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม 2561 ณ ลานอาคารอเนกประสงค์ นิคมรถไฟ กม.11 เขตจตุจักร กทม.

…………………………………………..