ถกทางรอด

4 กุมภา 10 โมงเช้า แขกรับเชิญคนแรกจากสภาแรงงานเสรีมาถึงก่อนใคร นั่งกินอาหารเช้ารออยู่ข้างพิพิธภัณฑ์ ถัดจากนั้นก็ทยอยกันมา จนกระทั่งเพล ก็เริ่มประชุมอย่างเป็นทางการ

ผู้นำแรงงานได้รับเชิญให้มาร่วมหารือถึงแนวทางในการสนับสนุนพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย แม้ว่าจะมาไม่ครบที่เชิญไป แต่ก็ถือเป็นก้าวแรกที่ดีในการพยายามให้องค์กรแรงงานเข้ามามีส่วนร่วมกับงานของพิพิธภัณฑ์อย่างใกล้ชิด องค์ประชุมมี 10 คนคือ

  • นายสาโรจน์ ฉัตรฉายา เลขาธิการสภาองค์การลูกจ้างแรงงานเสรีแห่งชาติ
  • นายธีระวิทย์ วงศ์เพชร รองเลขาธิการ สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์ฯ / รองเลขานุการมูลนิธิ
  • นายวิสุทธิ์ เรืองฤทธิ์ ประธาน สพ.ยานยนต์แห่งประเทศไทย
  • นายประวร มาดี ฝ่ายวิชาการ สพ.อุตสาหกรรมสิ่งทอฯ
  • นางสาวอัปสร กฤษณะสมิต ประธาน สพ.รัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย / กรรมการกิตติมศักดิ์มูลนิธิ
  • นายวินัย ติ่นโตนด ประธาน สร.วายเอสภัณฑ์
  • นายเชิดชัย เวียงวิเศษ กรรมการ สร.แรงงานธนาคารกรุงเทพ
  • นายทวีป กาญจนวงศ์ ประธานมูลนิธิ
  • นายวิชัย นราไพบูลย์ ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์ฯ
  • น.ส.วาสนา ลำดี เจ้าหน้าที่อาสาสมัครพิพิธภัณฑ์ฯ

DSCN8256 DSCN8293

นายทวีปกล่าวถึงความเป็นมาในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และปัญหาสำคัญของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยในขณะนี้ว่า คือเรื่องสถานที่และเรื่องงบประมาณในการดำเนินงาน โดยชี้แจงว่าได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหามาโดยตลอด และล่าสุดได้ไปพบปลัดกระทรวงแรงงานเมื่อ 3 ก.พ.58 เพื่อขอการสนับสนุน วันนี้จึงเชิญตัวแทนองค์กรแรงงานมาร่วมหารือเพื่อขอความร่วมมือในการสนับสนุนพิพิธภัณฑ์แรงงานต่อไป

นายธีระวิทย์กล่าวว่า การประชุมวันนี้ เพราะตนเป็นผู้เสนอว่าควรให้ผู้นำองค์กรแรงงานต่างมาร่วมขับเคลื่อนด้วยจึงจะมีพลัง ได้ประสานไปหลายคน แต่ติดภารกิจกันมาก แต่ก็จะประสานเข้าร่วมอีกในโอกาสต่อไป

นายวิชัยกล่าวถึงความสำคัญที่ต้องเชิญองค์กรแรงงานต่างๆมาร่วมกับพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยในการแก้ปัญหาต่างๆว่า เป็นเพราะพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยก่อตั้งขึ้นในปี 2536 โดยความร่วมมือของสภา สหพันธ์ และสหภาพแรงงานต่างๆ จึงถือว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน ขณะที่คณะกรรมการมูลนิธิและเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์เป็นเพียงตัวแทนที่เข้ามาดำเนินงาน เมื่อถึงคราวที่ต้องแก้ปัญหาสำคัญ จึงต้องให้องค์กรแรงงานต่างๆเข้ามามีส่วนร่วม ถือเป็นการหวนคืนสู่ความร่วมไม้ร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจของขบวนการแรงงานในอดีตที่แม้จะมีความแตกต่างหลากหลาย แต่ก็ยังร่วมกันสร้างพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์รวมในการรักษาคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้ใช้แรงงาน

นายสาโรจน์กล่าวว่า เดิมเข้าใจว่าพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเป็นของบางองค์กร จึงทำให้อีกหลายองค์กรไม่เข้าร่วมเพราะแนวทางการทำงานแตกต่างกัน วันนี้เข้าใจแล้วว่าพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเป็นของผู้ใช้แรงงานทั้งหมดที่ร่วมกันสร้างขึ้นมา และเสนอว่า ให้เสนอเป็นข้อเรียกร้องในวันแรงงานแห่งชาติให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนงบประมาณ ส่วนการสนับสนุนเบื้องต้นที่น่าจะเป็นไปได้คืองบจัดงานวันแรงงานฯในส่วนของการจัดงานวิชาการหรือนิทรรศการที่อาจมอบให้พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยดำเนินการ
นายประวรกล่าวว่า ที่ผ่านมาชนชั้นปกครองล้วนต้องการทำลายความเข้มแข็งของขบวนการแรงงาน ซึ่งพิพิธภัณฑ์แรงงานถือเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ของแรงงาน ตั้งอยู่บนสถานที่ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของแรงงาน จึงควรยืนยันการคงอยู่ในที่เดิมเป็นลำดับแรก

น.ส.อัปสรกล่าวว่า เห็นด้วยที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยทำงานเปิดกว้างกับพี่น้องแรงงานทุกกลุ่ม เพราะเป็นประวัติศาสตร์ร่วมกัน ส่วนข้อเสนอ ก็อยากให้หาโอกาสพบทั้ง บอร์ดและผู้ว่าการรถไฟฯ รวมทั้ง รมว.คมนาคม เพราะประเด็นเกี่ยวโยงกัน
นายวิสุทธิ์กล่าวว่า ปัญหาอยู่ที่ตัวผู้ใช้แรงงานและผู้นำแรงงานยังไม่เห็นความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์ จึงไม่ค่อยสนใจสนับสนุนกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย พิพิธภัณฑ์และองค์กรแรงงานอาจต้องทำงานเชิงรุกที่จะทำให้ผู้ใช้แรงงานเข้ามาใช้ประโยชน์จากพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยมากขึ้น และการสนับสนุนก็จะตามมา

นายวินัยเสนอความเห็นว่า หากองค์กรแรงงานช่วยกันสนับสนุนเป็นประจำรายเดือนหรือรายปีเพียงองค์กรละเล็กละน้อย ถ้าได้หลายๆองค์กรก็น่าจะทำให้พิพิธภัณฑ์อยู่รอดได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากที่อื่นที่อาจทำให้ขาดความเป็นอิสระไป

DSCN8309

จากการร่วมหารือ ที่ประชุมมีมติในเรื่องต่างๆดังนี้

  1. ให้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ เพื่อบรรจุเป็นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยทั้งเรื่องสถานที่และงบประมาณ โดยคุณสาโรจน์และคุณอัปสรเป็นผู้รับผิดชอบประสาน
  2. ให้หาโอกาสเข้าพบบอร์ดและผู้ว่าการรถไฟฯ และ รมว.คมนาคม เพื่อขอการสนับสนุน โดยในส่วนของผู้ว่าการรถไฟฯ ให้คุณอัปสรช่วยประสาน
  3. ให้หาโอกาสไปพบผู้นำสภาและสหพันธ์แรงงานต่างๆ เพื่อแนะนำและขอการสนับสนุนพิพิธภัณฑ์

20150204_123602 DSCN8300