พนักงานค้าปลีกญี่ปุ่น
หลังจากหญิงชาวญี่ปุ่นผู้สะเทือนใจกับสงครามโลกครั้งที่ 2 จากไปในช่วงเช้า พอคล้อยบ่าย ล่ามสาวชาวไทย 2 คนก็นำคณะพนักงานร้านค้าปลีกชาวญี่ปุ่น เป็นชายล้วน 5 คน มาเยือนพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย พร้อมอาวุธครบมือคือ ปากกาและ notebook (สมุดโน๊ต) เมื่อถามจุดประสงค์ ก็บอกว่ามาอบรมเรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีกร้านสะดวกซื้อในไทย จึงอยากรู้เรื่องราวของแรงงานไทย เพราะเคยเห็นในคู่มือท่องเที่ยวไทย(Guidebook ของญี่ปุ่น หน้า 138) แล้วสนใจ 5 หนุ่มกระตือรือล้นในการบันทึกเรื่องราวของแรงงงานไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันลงในสมุดโน๊ตอย่างเอาจริงเอาจัง (น่าจะตามอุปนิสัยคนญี่ปุ่น) ใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะผ่านแต่ละห้อง ส่วนล่ามสาวแอบบ่นว่า แปลยากมาก แต่ก็รู้อะไรเกี่ยวกับแรงงานขึ้นเยอะเลย ซึ่งก็คงไม่แปลกอะไร เพราะแม้คนไทย พูดไทยด้วยกัน และแม้เป็นคนงานไทย ก็ยังยากที่จะปะติดปะต่อทำความเข้าใจประวัติศาสตร์แรงงานไทยได้อย่างแจ่มแจ้ง แลกเปลี่ยนกันหลายเรื่องราวจนจุใจ สุดท้ายเขาก็ถามคำถามสำคัญว่า “ทำไมคนงานไทยจึงชอบเปลี่ยนงานบ่อย” พร้อมสาธยายว่า คนญี่ปุ่นมักไม่ค่อยเปลี่ยนงาน มีความรักและผูกพันกับบริษัทมาก เพราะบริษัทให้ค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆสูงเพียงพอต่อการมีมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดี ถ้าไม่เหนือบ่ากว่าแรงจริงๆก็อยู่กันจนเกษียณไปเลย เราตอบแทนคนงานไทยไปหลายเหตุผล ซึ่งก็ยังความประหลาดใจว่าทำไมแรงงานไทยถึงได้รับการดูแลแบบนี้ ไม่เว้นแม้เป็นโรงงานของชาวญี่ปุ่น (ส่วนใหญ่) ที่สุดก็ take photo ร่วมกัน ก่อนจะซาโยนาระ さようなら ขึ้นรถตู้จากไป …………………………………………………… […]